posttoday

"จตุพร" เชื่อวันที่ประชาชนลุกขึ้นไล่รัฐบาลใกล้มาถึง

26 มกราคม 2564

"จตุพร" ประเมินสถานการณ์การเมือง เชื่อวันที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาไล่รัฐบาลใกล้มาถึง เพราะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แนะฝ่ายค้านอภิปรายชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลว

เมื่อ 26 ม.ค. 2564 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ประเมินสถานการณ์การเมืองว่า ถ้าประชาชนฝากความหวังการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองกับรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ได้แล้ว วันลุกขึ้นของประชาชนเพื่อกำหนดชะตากรรมประเทศคงใกล้มาถึงทุกขณะ และคงอีกไม่นาน

นายจตุพร ประเมินว่า เนื่องจากการปฏิรูปที่รัฐบาลสัญญามาตลอดนั้นไม่เคยทำได้สำเร็จ เนื่องจากไม่ว่าประเทศจะปกครองด้วยเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็ตาม ล้วนเป็นระบอบต่อการเอื้อให้ทุนผูกขาดมาครอบครองผลประโยชน์ชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น ดังนั้น การปกครองแบบใดก็ตามก็เป็นสิ่งจอมปลอมเพราะผู้มีอำนาจคิดแต่เรื่องส่วนตัว ไม่คิดจะแก้ปัญหาของชาติอย่างจริงจัง

นายจตุพร เชื่อว่า ความอดทนของประชาชนจะเหลือน้อยลงตามลำดับและมองไม่เห็นว่า รัฐบาลจะสร้างอนาคตได้อย่างไร อีกทั้ง ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องทำให้คนมีความหวังในการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นถึงสิ่งที่รัฐบาลทำผิดกฎหมายจนประชาชนอดทนไม่ได้ แล้วออกมารับไม้กดดันกันต่อไป

“วันนี้เป็นเรื่องของความจนกับคนรวย เป็นเรื่องระหว่างสิ่งถูกต้องและไม่ถูกต้อง โดยสถานการณ์จะเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วปรากฎการณ์ครั้งนี้จะเป็นการร่วมมือของประชาชนทุกฝ่าย นอกจากนี้ การที่รัฐบาลบริหารประเทศจนเกิดความเดือดร้อนนั้นจะเป็นการสร้างความปรองดองของคนในชาติ เกิดสามัคคีขับไล่รัฐบาล แต่ถ้าฝ่ายค้านทำให้ผิดหวังด้วยแล้ว คงจะถูกประชาชนออกมาไล่เช่นกัน”

ดังนั้น การอภิปรายฯ ครั้งนี้ต้องเน้นชี้ให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลล้มเหลว จนจะอยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้อีกแล้ว นั่นเท่ากับคนจะอยู่ในบ้านไม่ได้ ต้องออกมากดดันไม่ให้รัฐบาลได้อยู่ต่อไปเพราะหมดความชอบธรรม

อีกอย่าง รัฐบาลขณะนี้ทำเป็นหูทวนลม เพิกเฉยไม่ได้ยินเสียงประชาชนในเรื่องการเยียวยาผ่านมือถือ ทั้งที่คนต้องการเงินสด จนทำให้คนสงสัยว่า ต้องการอะไรกันแน่ หรือจงใจจะเอาก้อนหินจากประชาชน อยากรู้ว่าคิดอะไร หรือคิดเกมการเมือง หรือโง่ ไม่เข้าใจ หรืออยากมีเรื่อง

“ดังนั้น รอบนี้จะเกิดการสามัคคีประชาชน เพราะรัฐบาลเย่อหยิ่งจองหองกันเกินไป ซึ่งรัฐบาลจะพังพาบกันได้ โดยท่าทีเช่นนี้ยิ่งทำให้ประชาชนอดทนไม่ไหวกันอีก เมื่อยิ่งเดือดร้อน แต่รัฐบาลกลับใช้ พรก.ฉุกเฉินปกครองกันมาเป็นปีๆ อีกอย่างกลไกรัฐบกพร่องจนเกิดการแพร่เชื้อโควิด แต่รัฐบาลกลับไม่เคยขอโทษประชาชนสักคำ”

นายจตุพร เชื่อว่า โดยเหตุการณ์ต่างๆดังกล่าวนั้น ถ้าฝ่ายค้านขยายการทุจริตแล้ว ประชาชนจะตอกย้ำรายละเอียดอีกครั้ง หากทำไม่ได้ก็เป็นหน้าที่ของประชาชน

นอกจากนี้ อภิปรายฯครั้งนี้มีความน่าสงสัยว่า ทำไมไม่แตะกระทรวงพลังงานทั้งที่เป็นกระทรวงอันดับ 1 ใครๆก็ต้องการไปเป็นรัฐมนตรี

สิ่งที่น่าสนใจคือ กระทรวงพลังงานเดินเกมการเมืองแบบดูแลทุกฝ่ายเบ็ดเสร็จ จึงทำให้รอดจากการถูกอภิปรายฯครั้งนี้ ดังนั้น สิ่งนี้เป็นหลักคิดในการดูแลสองซีกและเป็นการสมคบคิดเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง

“ถ้าประเทศไม่เปลี่ยนแปลงก็จะเจอคนแบบกระทรวงพลังงานมาจัดการผลประโยชน์ของชาติ แล้วชาติจะเหลืออะไร ดังนั้น ขณะนี้ประเทศจึงถูกครอบงำเบ็ดเสร็จแล้ว จึงต้องเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะลุกขึ้นมา เพราะเราฝากความหวังทางการเมืองกับฝ่ายใดไม่ได้เลย”นายจตุพรกล่าว