posttoday

"เพื่อไทย"เสนอปรับวงเงิน 9 แสนล้านช่วย SMEs ก่อนเจ๊งทั้งระบบ

24 มกราคม 2564

“เพื่อไทย”แนะนายกฯเร่งปรับวงเงินทั้ง 9 แสนล้านช่วย SMEs ก่อนพังกันทั้งหมด ชี้ต้องรักษาการจ้างงานก่อนว่างงานเพิ่ม พร้อมดูแลค่าบาท แนะให้ดูความฉลาดและวิสัยทัศน์ของผู้นำเวียดนามเทียบผู้นำไทย

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยได้จี้ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ให้เร่งช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่กำลังลำบากมาโดยตลอด เนื่องจากมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือ SMEs ยังไม่เพียงพอ วงเงิน 5 แสนล้านบาทของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ สามารถปล่อยกู้ได้เพียง แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่ยังมี ธุรกิจ SMEs เดือดร้อนอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเพิ่งจะคิดแก้กฏระเบียบ เพื่อผ่อนคลายการปล่อยกู้ให้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้ช่วยเหลือ ธุรกิจ SMEs ได้ง่ายขึ้น แม้จะสายไปบ้างแต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำ เพราะการผ่อนคลายกฏระเบียบในการปล่อยกู้เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อช่วยธุรกิจ SMEs ให้รอดได้ก่อนที่จะเจ๊งกันหมด ซึ่งต้องดูว่าจะช่วยธุรกิจใดบ้าง โดยต้องพิจารณาว่า ธุรกิจใดจะไปรอดหลังวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดผ่านพ้นไปแล้ว

ทั้งนี้ อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ได้ปรึกษากับ ธปท. ในการปรับวงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ ธปท. ตั้งไว้เพื่อซื้อพันธบัตรของเอกชน ให้มาปล่อยกู้ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เพิ่มขึ้น รวมเป็น 9 แสนล้านบาท ตามคำแนะนำของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจเสนอไว้ เพราะวงเงิน 4 แสนล้านที่ตั้งใจซื้อพันธบัตรของเอกชนคงไม่ได้นำไปใช้ซื้อพันธบัตรของเอกชนแล้ว จากการคัดค้านของกลุ่มบุคคลากรทางด้านการเงินการคลัง รวมถึง ดร.วีรพงษ์ รามาวกูร อดีต รองนายกรัฐมนตรี และ อดีต รมว.คลัง ด้วย เพราะจะเป็นการช่วยเจ้าสัวและน่าจะผิดหลักการของ ธปท. เอง ดังนั้นจึงอยากให้ปรับวงเงินดังกล่าวเพื่อมาช่วย ธุรกิจ SMEs จะเกิดประโยชน์มากกว่า และหากจำเป็นก็อาจจะต้องขอให้ ธปท. เพิ่มวงเงินมากขึ้น โดยรัฐบาลอาจจะต้องรับประกันหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับการปล่อยกู้ SMEs นี้ได้ในอนาคต แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นกลับมาแล้ว และมีการเลือกธุรกิจที่จะฟื้นกลับมาได้ หนี้เสียก็คงไม่มากนัก ธุรกิจ SMEs จำนวนมากต้องการจะประคองตัวให้ผ่านภาวะวิกฤตนี้ไปให้ได้

นายกฤษดากล่าวว่า รัฐบาลเองก็จะต้องมีแนวคิดและแนวปฏิบัติให้ครบกรอบ โดยอยากให้มีมาตรการช่วยการจ้างงาน เพื่อแก้ไขเรื่องการว่างงานที่จะเป็นปัญหาใหญ่ การเร่งให้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครบโดยเร็วเพื่อธุรกิจจะได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเป็นเรื่องสำคัญ การดูแลค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างมาก การเจรจาเขตการค้าเสรีทั้งทวิภาคี และ พหุภาคียังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยเฉพาะกับประเทศหลักหลายประเทศ การพัฒนาแพลตฟอร์มของระบบราชการ หรือ digitalization ระบบรายการ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำเช่นกัน เป็นต้น อย่าทำเหมือนโครงการ “เราชนะ” ที่ประชาชนตำหนิกันอย่างมาก จาก การที่ไม่จ่ายเงินสด จ่ายสัปดาห์ละหนึ่งพันบาท 7 สัปดาห์ และ ต้องลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือที่คนจำนวนมากอาจยังไม่มี ซึ่งได้สร้างปัญหาอย่างมาก จนทำให้ประชาชนคิดกันว่า ขนาดรัฐบาลทำเรื่องง่ายๆอย่างการแจกเงินยังถูกด่า ดังนั้นเรื่องยากๆอย่างการฟื้นเศรษฐกิจ และ การหารายได้เข้าประเทศคงไม่ต้องพูดถึง

อย่างไรก็ตาม การที่พล.อ.ประยุทธ์สงสัยว่าทำไมประเทศเวียดนามที่ไม่ได้มีทรัพยาก รและไม่ได้มีความพร้อมเท่ากับประเทศไทย แต่ทำไมเวียดนามถึงพัฒนาและก้าวหน้าไปมากกว่าประเทศไทยมากมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมานี้ ก็อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ได้ไป ศึกษาวิธีคิดและ ศึกษาวิสัยทัศน์ของผู้นำเวียดนามว่าเขาคิดอย่างไร วางแผนอย่างไร และปฏิบัติอย่างไร ต่างกับตัวเองขนาดไหน ทำไมคนหนึ่งทำประเทศก้าวหน้า ในขณะที่อีกคนหนึ่งทำประเทศถอยหลัง ทั้งที่มีศักยภาพมากกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้นำที่เก่งและฉลาดจะสร้างความแตกต่างให้กับประเทศได้อย่างมาก โดยคนไทยได้รู้ซึ้งจากประสพการณ์ที่ผ่านมาตลอดหลายปีนี้