posttoday

ราเมศเผยชวนทำหน้าที่ส่งคำร้องขอทุกฝ่ายไม่ก้าวล่วงอำนาจศาลธน.

22 มกราคม 2564

เลขานุการประธานรัฐสภา แจงชวนทำหน้าที่ส่งคำร้องไปศาลรธน.สั่งสิระหยุดปฎิบัติหน้าที่ส.ส.และขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติ ตามม.82 ขอทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังการแสดงความคิดเห็น

นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงกรณีที่ได้มีการยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความ เป็น ส.ส.ของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงหนือไม่ เกิดจากเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2564 พลตำรวจเอกเสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส กับคณะรวม 145 คนเข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6)ประกอบมาตรา 98(10)หรือไม่ โดยอาศัยการยื่นผ่านช่องทางมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ

เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรทำตามขั้นตอนในทางธุรการ มีการตรวจคำร้องและลายมือชื่อของ ส.ส.ที่ได้เข้าชื่อแล้ว จำนวนครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และมีลายมือชื่อที่ถูกต้อง มาตรา 82 วรรคหนึ่งกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับมอบอำนาจ ก็ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวานนี้ วันที่ 21 มกราคม 2564 เวลา 15.00 น และวันเดียวกันก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังตัวแทนผู้ร้องคือ นายเสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส เป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้ถือว่าคดีอยู่ในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การแสดงความคิดเห็นใดๆก็ต้องใช้ความระมัดระวัง ประธานสภาผู้แทนราษฏรทำหน้าที่เป็นคนยื่นคำร้อง ด้วยความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา

"ส่วนต่อจากนี้ ก็เป็นกระบวนการต่อสู้คดีในชั้นศาลของผู้ร้องที่แท้จริงคือ พลตำรวจเอกเสรีพิสุทธิ์ เตมียเวช กับคณะ และฝ่ายผู้ถูกร้องคือนายสิระ เจนจาคะ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ อยากให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญที่จะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย" นายราเมศ กล่าว

ส่วนที่มีการตั้งข้อเกตว่าในคำร้องนอกจากขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายสิระ แล้ว ทำไมต้องมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย ประเด็นนี้เป็นหลักการปกติ เมื่อผู้ร้อง คือ พล.ต.อ เสรีพิสุทธิ์ ได้ยื่นคำขอดังกล่าวมาในหนังสือที่ยื่นต่อประธานสภาด้วย คำร้องก็ต้องใส่ประเด็นนี้ไปด้วย และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง ก็ระบุไว้ชัดว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ไม่อยากให้ไปก้าวล่วงดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ