posttoday

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ

19 มกราคม 2564

"ช่อ"ตั้งคำถามกลับกระทรวงสาธารณสุข 7ประเด็นคาใจกรณีวัคซีนโควิดข้องใจไทยซื้อราคาสูง

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 คณะก้าวหน้า โดย น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ "ช่อ"ได้แถลงผ่านเฟซบุ๊กตั้งคำถามกลับ 7 ประเด็น หลังกระทรวงสาธารณสุขแถลงกรณีวัคซีนพระราชทาน โดยระบุว่า หลังจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดประเด็น #วัคซีนพระราชทาน เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา วันนี้ (19 มกราคม) ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ได้แถลงตอบประเด็นที่เราตั้งไว้ ซึ่งเรายินดีอย่างยิ่งที่ท่านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม สร้างความกระจ่างให้กับสังคมในประเด็นที่ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ แต่เรายังคาใจ อยากถามต่อดังนี้”

1. รัฐเอื้อประโยชน์เอกชนรายเดียว? กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า “มีผู้พยายามแข่งให้บริษัท AstraZeneca คัดเลือก แต่ทีมไทยแลนด์ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีน SCG และรัฐบาล เจรจาและแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของ Siam Bioscience ที่เดิมผลิตเพียงแค่ชีววัตถุ หรือยาเพิ่มเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง สามารถปรับศักยภาพมาเป็นการผลิตวัคซีน ซึ่งรัฐสนับสนุน 595 ล้านบาท และ SCG อีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ จนเข้าคุณสมบัติ”

แต่คำถาม คือ “หมายความว่า Siam Bioscience ไม่ได้พร้อมในการผลิตวัคซีน ต้องการความช่วยเหลือทั้งจากรัฐและเอกชนแล้วทำไมต้องเอาภาษีประชาชนแบกบริษัทเอกชนรายเดียวให้พร้อมผลิตวัคซีนให้ได้ แล้วบริษัทอื่น หรือองค์การเภสัชกรรมจะพร้อมได้เหมือนกันหรือไม่ ถ้าได้เงินสนับสนุนเท่า Siam Bioscience นี่คือการใช้งบประมาณรัฐเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียวหรือไม่”

2. ข้อตกลง Siam Bioscience กับ AstraZeneca พิเศษมาก? กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า “ข้อตกลงที่ Siam Bioscience ทำกับ AstraZeneca เป็นข้อตกลงที่พิเศษมาก ไม่มีที่ไหนทำได้ คือเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน และเป็นข้อตกลงแบบไม่มีกำไร (Non-Profit) AstraZeneca จะขายวัคซีนในราคาทุนให้กับเรา เพราะ Siam Bioscience ก็จะขายให้ AstraZeneca ในราคาเท่าต้นทุนการผลิต”

แต่ข้อเท็จจริง คือ “ยุทธศาสตร์การขายวัคซีนของ AstraZeneca ทั่วโลก เน้นการหาผู้ผลิตในภูมิภาคหรือประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นฮับในการผลิต AstraZeneca ทำข้อตกลงลักษณะนี้กับรัฐบาลหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ โดยให้เอกชนในประเทศนั้นๆ เป็นผู้ผลิต ไม่มีอะไรพิเศษ และข้อตกลงก็เป็นแบบ Non-profit หรือไม่มีผลกำไรเหมือนกันด้วย”

3. จะใช้ทุนที่รับจากรัฐด้วยวัคซีน?กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า “Siam Bioscience ทำสัญญาตอนรับทุนช่วยเหลือจากรัฐ ว่าจะคืนกลับมาเป็นวัคซีนมูลค่าเท่าทุนที่ได้รับไป”

แต่คำถาม คือ “เท่าที่เราตรวจสอบสัญญา 4 ฝ่ายระหว่าง AstraZeneca กับ Siam Bioscience , SCG และกระทรวงสาธารณสุข Siam Bioscience เป็นเพียงผู้ผลิตวัคซีน ไม่มีอำนาจในการเลือกว่าจะจัดจำหน่ายให้ใคร อำนาจนั้นเป็นของ AstraZeneca ซึ่งตามสัญญา จะขายให้ไทยเพียง 26 ล้านโดส จากกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปีของ Siam Bioscience เพื่อความโปร่งใส เราขอให้มีการเปิดสัญญาจ้างผลิต (CMO) ระหว่าง AstraZeneca และ Siam Bioscience เพื่อยืนยันว่าบริษัทไม่ได้เอากำไร และมีอำนาจในการนำวัคซีนมาใช้หนี้ รวมถึงขอให้เปิดสัญญารับทุนระหว่าง Siam Bioscience และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่ามีเงื่อนไขอย่างไร และรับเงินจำนวนเท่าไหร่กันแน่”

4. เราซื้อวัคซีนได้ถูกที่สุดในท้องตลาด?กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า “รัฐบาลมีแนวทางฉีดวัคซีน โควิด-19 ให้กับประชาชนฟรี โดยใช้งบจองซื้อวัคซีน AstraZeneca 5 ดอลลาร์ หรือราว 150 บาท ต่อโดส ซึ่งถือว่าเป็นราคาถูกที่สุดที่หาได้ในท้องตลาดขณะนี้”

แต่ความจริง คือ “ประเทศอื่นๆ ซื้อวัคซีน AstraZeneca ในราคาโดส ละ 1.5 - 4 ดอลลาร์ แต่ไทยซื้อ 5 ดอลลาร์ เช่นเดียวกับ Sinovac ที่ประเทศอื่นซื้อในราคา 10 - 18 ดอลลาร์ ไทยซื้อในราคา 20 ดอลลาร์”

5. ไม่รีบจัดหาวัคซีน เน้นปลอดภัย? กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า “วัคซีนได้ช้า เพราะเราไม่ได้ทำงานตามแรงกดดัน ไม่รีบ เราทำตามขั้นตอน เพื่อให้ได้วัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดมาฉีดให้ประชาชน”

แต่คำถาม คือ “แล้ววัคซีน Sinovac ที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการเปิดเผยผลการทดลอง และประสิทธิภาพต่ำสุดในบรรดาวัคซีนที่อยู่ในท้องตลาด รัฐบาลซื้อมาทำไมตั้ง 2 ล้านโดส แถมซื้อในราคาแพงกว่าประเทศอื่นด้วย ส่วนที่บอกว่าไม่รีบ คำถาม คือ ถ้าประเทศอื่นได้วัคซีนครบ ฉีดให้ประชาชนได้ครบ พาเศรษฐกิจและชีวิตประชาชนกลับสู่ความเป็นปกติได้แล้ว แต่เรายังไม่ได้ ประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รัฐบาลรับผิดชอบได้หรือไม่”

6. ไม่ได้ผูกขาดวัคซีนจากรายเดียว? กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า “รัฐบาลไม่ได้จัดหาวัคซีนจากแค่เอกชนรายเดียว ตอนนี้มีคุยกับอีก 4 บริษัท อยู่ในระหว่างการเจรจา เราต้องการวัคซีนหลายร้อยล้านโดส กระบวนการจัดหาเป็นไปตามขั้นตอน ต้องใช้เวลา”

แต่คำถาม คือ “ประเทศไทยไม่ได้ต้องการวัคซีนหลายร้อยล้านโดส คนไทยมี 69 ล้านคน ฉีดวัคซีนคนละ 2 โดส เท่ากับเราต้องการวัคซีนสูงสุด 138 ล้านโดส เป้าหมายของรัฐบาลคือฉีดให้ได้ 50% ของประชากร คือ 69 ล้านโดสในปีนี้ ตอนนี้สั่งซื้อจาก AstraZeneca แล้ว ลอตแรก 26 ล้านโดส และกำลังจะซื้ออีก 35 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส เท่ากับเราพึ่งวัคซีนจากเจ้าเดียว 88.4% ของความต้องการในปีนี้ แบบนี้เรียกว่ามีความมั่นคงทางวัคซีน หรือผูกขาดวัคซีนกันแน่”

7. ถ้าไม่ได้สิ่งของพระราชทาน ก็ไม่พร้อมรับมือโควิด?กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า “ถ้าไม่ได้สิ่งของ เงินพระราชทานต่างๆ มากมาย เราก็จะไม่พร้อมรับมือโควิดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

แต่คำถาม คือ “สรุปรัฐบาลยอมรับว่าบริหารประเทศล้มเหลว ไม่สามารถรับมือโควิดได้ รอเพียงของบริจาค และสิ่งของพระราชทาน รัฐบาลยอมรับใช่หรือไม่ว่า เงินกู้นับแสนล้านบาทที่กู้มา ไม่ได้ถูกบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยประเทศเป็นหนี้โดยไม่เกิดประโยชน์”

น.ส.พรรณิการ์ ยังได้กล่าวเรียกร้องให้มีการเปิดเผยสัญญาเกี่ยวกับการซื้อวัคซีนทั้งหมดรวมถึงข้อตกลงที่ Siam Bioscience ทำกับ AstraZeneca ด้วย

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ

คณะก้าวหน้าโต้กลับ"สธ."7ปมวัคซีนโควิดจี้เปิดสัญญาซื้อ