posttoday

"ทิพานัน"ซัดเพื่อไทยอย่าปั้นน้ำเป็นตัวมั่ววิจารณ์รัฐเยียวยาโควิด

17 มกราคม 2564

"ทิพานัน" ขอเพื่อไทยอย่า "ปั้นน้ำเป็นตัว" มั่ววิจารณ์รัฐเยียวยาโควิด ยันมีมาตรการอุ้มเอสเอ็มอี-ทุกกลุ่ม มั่นใจนโยบายรัฐรอบคอบ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าววิจารณ์ว่ารัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนในการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ไม่รอบคอบ ล้มเหลวในการบริหารประเทศนั้น เป็นการวิจารณ์เหมือนปั้นน้ำเป็นตัว ซึ่งขอว่าอย่าทำเช่นนั้น

ทั้งนี้ข้อเสนอแนะของเพื่อไทยที่เสนอมาก็ไม่รอบคอบ ไม่เท่าเทียม ไม่อยู่ในเหตุในผล เสมือนว่า “จำเขามาพูด” มากกว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลภายใต้พลเอกประยุทธ์ได้ออกมาบังคับใช้นั้นเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม ฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนทั้งทีมแพทย์ ประชาชน และภาคธุรกิจ ไม่ได้เป็นนโยบายจากแดนไกลที่สั่งมาแล้วต้องทำตามโดยจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้แบบที่บางพรรคมักถูกบุคคลอื่นครอบงำ สำหรับมาตรการ “เราชนะ” ที่เยียวยา 3,500 บาท 2 เดือนที่แตกต่างจากการเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือนนั้น

เพราะในสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดในปีที่แล้วเราได้ใช้มาตรการที่เคร่งครัดอย่างสูงสุดเพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ข้อมูลทางการแพทย์ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา สถานการ์โรคไม่มีความนิ่งแน่นอน มีการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งแตกต่างกันมากกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ดำเนินมาตรการสร้างสมดุลทั้งการควบคุมโรคและระบบเศรษฐกิจ จัดแบ่งโซนกลุ่มจังหวัดตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดทำให้บรรเทาจำนวนและผลกระทบของประชาชนไปได้มาก

ส่วนระยะเวลาคือ 2 เดือนนั้นก็เป็นมาตรการในเบื้องต้นที่คาดการณ์จากสถานการณ์ของโรค สามารถต่อขยายได้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตามที่เป็นจริง ข้อเสนอของเพื่อไทยที่ให้จ่าย 5,000 บาท 3 เดือนจึงเป็นข้อเสนอที่โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ความเป็นจริง "ทั้งนี้รัฐบาลไม่เคยละเลยกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการบรรเทาผลกระทบในระยะเร่งด่วน ต่างประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ

1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน 2. มาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน  การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์ การว่างงาน ฯลฯ และ 3. มาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอินเตอร์เน็ต รวมถึงลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ลดอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลือ 2% ขยายเวลามาตรการทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่งที่อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงการคลังเพื่อเสริมสภาพคล่องและพักชำระหนี้ เช่น สินเชื่อเสริมพลังฐานราก

สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ฯลฯ   และสำหรับ 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดนั้น ขณะนี้ความจำเป็นเร่งด่วนอย่างสูงสุดคือการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ลดจำนวนผู้ติดเชื้อและสียชีวิตเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย  นอกจากนี้รัฐบาลได้ประกาศการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยให้เข้มแข็ง ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยศักยภาพเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจใหม่นี้เรียกว่า "BCG"  หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ อีกด้วย สำหรับงบประมาณที่เหลือรวมกัน 6 แสนล้านบาทนั้น นายกฤษฎาและพรรคเพื่อไทย ต้องทำความเข้าใจว่าไม่สามารถเอามาแจกได้อย่างเดียวตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ   งบดังกล่าวต้องเตรียมไว้ใช้สำหรับการสาธารณสุขและการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างครบวงจรอย่างมั่นคง รวมถึงใช้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนด้วย  เพราะเราต้องมีงบประมาณรองรับทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดโรค การควบคุมการแพร่ระบาดโรค การรักษาพยาบาลผู้ที่ติดเชื้อ และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมอีกมาก

ดังนั้นจึงเห็นว่าข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นข้อเสนอที่ไม่รอบคอบ ไม่มองอนาคตที่ต้องวางแผนรองรับทางเศรษฐกิจ ล้วนแต่จะจ้องดิสเครดิตรัฐบาลไปวันๆ