posttoday

"เทพไท"เสนอ นำ10 ข้อดีร่างรธน.ฉบับปชช.บรรจุในรธน.ใหม่

21 พฤศจิกายน 2563

เทพไท เสนอ นำข้อดี 10 ข้อ ของ ร่างรธน.ฉบับประชาชน ไปบรรจุใน รธน.ฉบับใหม่ เพื่อไม่ให้เจตนารมณ์ของประชาชนสูญเปล่า

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 63 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ผลการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมติ2ฉบับ และไม่ผ่านมติรัฐสภา5ฉบับนั้นว่า เป็นที่น่าเสียดายสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ไม่ผ่านมติขั้นรับหลักการ ซึ่งเป็นการปฎิเสธกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชน แม้ว่า สาระในร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับดังกล่าวอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีจุดที่น่าสนใจอยู่ในหลายประเด็นซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเพิ่มเติม ที่รัฐสภาตั้งขึ้นก็ควรจะนำรายละเอียดที่เป็นจุดเด่นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เขียน และกดทับรัฐบาลทุกชุด 3.ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศที่คนของคสช. เป็นคนเขียน 4.ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 5.ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. ที่ช่วยให้คสช. ลอยนวลพ้นผิด 6.แก้ไขที่มา นายกฯ ยกเลิกบัญชีว่าที่นายกฯ และให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. 7.แก้ไขที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง และลดอำนาจพิเศษของ ส.ว. 8.แก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญพร้อมสรรหาใหม่ยกชุด 9.แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่าย ใช้แค่เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็พอ 10.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

ตนเห็นว่าจากสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 10 ข้อ มีประเด็นที่น่าสนใจตรงกับหลักการประชาธิปไตยสากล ที่คนส่วนใหญ่น่าจะยอมรับได้เกินครึ่ง เช่น ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ปิดช่องทางให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ประเด็นการแก้ไขที่มาและการได้มาขององค์กรอิสระ ประเด็นวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา และประเด็น สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ฯลฯ

ตนจึงขอเสนอให้คณะกรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต ได้รับข้อเสนอและสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นำไปศึกษาและบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพื่อไม่ให้เจตนารมณ์ของประชาชน สูญเปล่า หรือถูกละเลยไปอย่างไร้ความหมายทางการเมือง