posttoday

"ไอลอว์"แจงกลางสภาต้องแก้รธน.ปลดอำนาจคสช.-ย้ำไม่ใช่ตกวาระแรก

17 พฤศจิกายน 2563

ผู้แทน"ไอลอว์"ชี้แจงกลางสภาร่างแก้ไขรธน.ที่เสนอให้แก้ไขเป็นของประชาชนที่ร่วมลงชื่อเสนอ ต้องการหยุดอำนาจของคสช.เอาประชาธิปไตยกลับคืนมา พร้อมเสนอ 5 ความฝันหวังรัฐสภารับร่างรธน.พาประเทศพ้นวิกฤติ

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.เวลา 15.30 น.ระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มไอลอว์ ภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วย นำโดย นายจอน อึ้งภากรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ของไอลอว์อย่างที่เรียกกัน แต่เป็นของประชาชนที่ร่วมลงชื่อภายในเวลา 1 เดือนจำนวน 98,824 ชื่อ สาเหตุที่ต้องแก้ไขเพราะรัฐธรรมนูญออกแบบให้คสช.มีอำนาจอยู่ เห็นได้ชัดว่า มีการนำคสช.เป็นรัฐมนตรีหลายคน แม้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่เป็นเรื่องโกหกจึงเป็นโมฆะ เพราะประชาชนมีสิทธิเลือกแค่ผู้แทนราษฎร ไม่มีโอกาสตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีองค์ประกอบอื่นไม่ได้มาจากประชาชนเข้ามาเป็นตัวกำหนด

นายจอน กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่รอไม่ได้แล้วเพราะต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เราจึงตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาลงชื่อ มีประชาชนกระตือรือร้นมาลงชื่อเป็นจำนวนมาก จึงหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะให้ความสำคัญกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แต่ควรให้ข้อดีๆทั้งหลายเข้าไปร่วมพิจารณากับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ที่สำคัญ ถ้าประเทศไทยจะพ้นวิกฤติและมีพัฒนาการใกล้เคียงกับอารยะประเทศได้ เราจะต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด สมาชิกรัฐสภาทราบดีว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา จึงต้องมีการแก้ไข

"ไอลอว์"แจงกลางสภาต้องแก้รธน.ปลดอำนาจคสช.-ย้ำไม่ใช่ตกวาระแรก

ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมาย ชี้แจงว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเรามีความฝัน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.เราฝันว่าจะมีการปกครองที่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและผู้นำประเทศได้ อย่างน้อยด้วยการเลือกทางอ้อมผ่านสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชน 2.เราฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่รัฐบาลโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้ โดยมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบโดยตรงมีที่มาเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร 3.เราฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเอง ผู้สมัครเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายว่าจะพาประเทศไปทางไหนและให้ประชาชนเลือก 4.เราฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการยกเว้นความผิดให้กับใคร และ 5.เราฝันว่าจะอยู่ในกติกาสูงสุดที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขียนขึ้นโดยประชาชน โดยคนที่จะมาทำจะยึดโยงจากประชาชนทุกคนภายใต้บรรยากาศที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ความฝันเหล่านี้ยากเกินไปหรือไม่ ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานมาก ซึ่งประเทศไทยก็เคยเป็นเช่นนั้นมาก่อน เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาต่างมีความฝันเหล่านี้เช่นกัน ไม่ใช่ข้อเรียกร้องสุดโต่ง รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอุปสรรคขัดขวางของพวกเราจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดำเนินการโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% โดยสามารถหยิบทุกปัญหาในสังคมที่มีความขัดแย้งกัน โดยเฉพาะปัญหาที่อึดอัดจนต้องลงบนถนนมาพูดคุยกันในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้เราได้กติกาใหม่ที่อยู่ร่วมกันได้และเป็นกติกาที่ใช้กันยาวๆ 

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า เราเพียงเรียกร้องให้แก้ไขความผิดปกติของระบอบการเมืองปัจจุบันให้กลับเป็นระบบการเมืองที่ปกติธรรมดาเท่านั้น หากรัฐสภาลงมติรับหลักการก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาประชาธิปไตย และทำให้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนถนนได้มีพื้นที่พูดคุยอย่างมีเหตุผล หากรัฐสภาไม่รับไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป สมาชิกรัฐสภาจะต้องอธิบายต่อประชาชนนับแสนคน รวมทั้งประชาชนอีกหลายคนที่รอฟังคำอธิบายต่อไป