posttoday

“องอาจ” หนุนแนวคิด “ชวน” นำนักปฏิบัติร่วมกก.สมานฉันท์

14 พฤศจิกายน 2563

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หนุนแนวคิด “ชวน” นำนักปฏิบัติร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ผลักดันงานให้สำเร็จ เสนอ 2 รูปแบบทำงานคู่ขนานหาทางออกประเทศ

เมื่อวันที่ 14พ.ย. 63 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า การที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการเอานักปฏิบัติมาร่วมทำงานในคณะกรรมการสมานฉันท์นับเป็นเรื่องดีที่น่าสนใจ แสดงถึงความตั้งใจจริงของประธานรัฐสภาที่อยากเห็นการแก้ปัญหาหาทางออกให้ประเทศประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อพิจารณาดูรายชื่อของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่เคยตั้งขึ้นมาในอดีต ก็เป็นไปอย่างที่ประธานรัฐสภากล่าว คือจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย สามารถทำข้อสรุปออกมาได้ดีแต่อาจไม่ค่อยเห็นผลสำเร็จทางปฏิบัติ การที่ประธานรัฐสภาแนะนำให้เอานักปฏิบัติมาร่วมผสมผสานกับผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีด้วย ก็น่าจะช่วยให้การทำงานมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเห็นผลสามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริง

นายองอาจ กล่าวว่า ในขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองมีความขัดแย้งมีความเห็นต่างกันอย่างสุดขั้ว การมีคณะกรรมการเป็นเวทีให้แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสรับฟัง พูดคุยกัน นับเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการรับฟังกันจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีเวทีรับฟัง พูดคุยกันเลย ความเข้าใจก็เกิดขึ้นได้ยาก เพราะเมื่อไม่มีเวทีรับฟัง พูดคุยกัน โอกาสที่จะเกิดการเผชิญหน้ากันก็มีสูงตามไปด้วย เมื่อใดที่มีการเผชิญหน้าย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงที่นำไปสู่การสูญเสียตามมา ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งพึงปรารถนาของสังคมไทย ทุกๆ ฝ่ายจึงควรช่วยกันสร้างเวทีให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่ปลอดภัยที่จะรับฟังกัน พูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่ารูปแบบการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์อาจแบ่งออกเป็น 2 ชุดคือ

1. เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่หลายฝ่ายพอยอมรับกันได้ เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายออกไปเกินกว่าจะแก้ไขได้

2. เพื่อแก้ไข ป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ถึงแม้ในความเป็นจริง ปัญหาในอนาคตอาจมีบริบทที่แตกต่างจากปัจจุบัน แต่ถ้ามีคณะกรรมการทำงานเพื่อป้องกัน ปัญหาในอนาคตควบคู่ไปด้วยก็ช่วยให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนการพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหาทางออกให้ประเทศได้ประสบความสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ต่อไป