posttoday

"วิษณุ"หนุนยื่นตีความแก้รธน.อ้างไม่ทำตอนนี้ในอนาคตอาจสายเกินแก้

12 พฤศจิกายน 2563

"วิษณุ"แจง"พปชร.-ส.ว.ยื่นตีความแก้รธน.ไม่ได้ทำให้สะดุดยันไม่ทำตอนนี้อาจจะสายเกินแก้หากทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้

เมื่อวันที่12พ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะส.ส.ซีกรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วนยื่นตีความว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดรัฐธรรมนูญนั้น พูดยาก เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของส.ส.ไม่ใช่ของรัฐบาล หากส.ส.และ ส.ว.สงสัยจะยื่นตีความนั้น ก็พูดในหลักการแล้วอย่าทำให้กระบวนการสะดุด และเท่าที่ดูไม่สะดุดก็ทำไป

ทั้งนี้เพราะถือว่าไม่ทำตอนนี้ก็ทำในอนาคตต่อไปแล้วจะสายเกินแก้ หรือจะมีความเสียหาย เช่น ทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้ เขาอาจเจตนาดี เพราะไม่วันใดวันหนึ่ง ก็ต้องส่งอยู่แล้ว ซึ่งการส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลามากกว่า เพราะเป็นภาคบังคับถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ระบุว่าหากมีสมาชิกรัฐสภา สงสัยมีสิทธิ์เข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยภายใน30 วัน หากส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลา 1 เดือนนั้นไป ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ต้องส่งก็ได้

ดังนั้นหากมีอะไรตอนนี้ยังแก้ไขได้ทันเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ภายใต้ข้อแม้ ไม่ให้สะดุดเพราะดูแล้วมันไม่สะดุดอะไรเพราะวันที่ 17-18 พ.ย. มีการโหวตวาระหนึ่ง หากผ่านก็ตั้งคณะกรรมาธิการใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และ หากในเวลาดังกล่าวส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จเรื่องก็ไปอยู่ในศาล หากศาลบอกไม่ขัดก็หมดเรื่องกระบวนการก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประชามติมาใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าเป็นเดือนก.พ. ปีหน้าและยืนยัน หากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ อย่างน้อยฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่กล้าพูดถึงฉบับอื่นและ เมื่อถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องหรือไม่เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีโอกาส เพราะยื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้ง เป็นเรื่องสงสัยในอำนาจหน้าที่ของสภา แต่มีเยอะไปที่ศาลไม่รับ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยส่งไปหารือก็ไม่รับ ในสมัยที่นายชวน หลักภัย เคยเป็นนายกฯ ศาลบอกว่าเรื่องยังไม่เกิด ศาลไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมาย อยากทราบไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา