posttoday

ปิดทางนายกฯคนกลาง แต่ต้องเร่งแก้รธน. ทางออกของ“บิ๊กตู่” เมื่อถูกขีดเส้น

24 ตุลาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

*****************

ระยะเวลา 3 วันที่ม็อบคณะราษฎร เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจะตรงกับวันคืนวันเสาร์ที่24 ต.ค.เมื่อนายกฯ ไม่ลาออก ก็เชื่อว่า แนวทางหนึ่งของม็อบคณะราษฎร คือ การเคลื่อนพลไปปิดล้อมรัฐสภาที่จะเริ่มประชุมกันวันจันทร์สมัยวิสามัญหาทางออกวิกฤตความขัดแย้ง ไม่ก็กดดันไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลอีกรอบ ไม่ให้บิ๊กตู่ได้เข้าไปทำงาน สถานการณ์ของม็อบผ่านไป 1 สัปดาห์ พัฒนาเร็วกว่าที่คิด จากชนวนที่ รัฐบาลรีบชิงสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน แม้จะมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยทั้งสองฝ่าย แต่ก็ขยายวงให้ผู้คนโกรธแค้นเพราะเห็นว่า รัฐบาลทำร้ายเด็กนักเรียน นักศึกษา

การนัดชุมนุมดาวกระจายผ่านมือถือเป็นแบบใหม่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศไทย เป็นม็อบไม่มีแกนนำเบื้องหน้า เป็นการชุมนุมยุคใหม่ สร้างความปวดหัวให้รัฐบาลเป็นอย่างมาก แต่เมื่อม็อบติดเครื่องแล้วย่อมไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้ ต้องยกระดับขึ้นทุกครั้ง ถ้าปล่อยไว้นานโดยที่ยังไม่ได้ชัยชนะก็อาจกดดันตัวเองและเสี่ยงใช้ความรุนแรงตามมาได้

สถานการณ์ขณะนี้เปราะบางมาก เพราะเริ่มมีมวลชนเสื้อเหลืองออกมาปกป้องสถาบัน แสดงพลังตามต่างจังหวัด เป็นทั้งกลุ่มจัดตั้งของ สส. พรรครัฐบาล รวมถึง มวลชนที่ออกมาเองตามธรรมชาติ คัดค้านม็อบราษฎร ความรุนแรงเริ่มก่อตัวให้เห็นในบางพื้นที่มีการปะทะกัน

กลับมาในซีนล่าสุด ม็อบราษฎรกดดันให้ “บิ๊กตู่” ลาออก แต่เจ้าตัวประกาศแล้วไม่มีทางลาออก ทั้งยังได้แรงหนุนชั้นดี แต่หากคิดตามสมการ “บิ๊กตู่” เกิดทำบิ๊กเซอร์ไพรส์ยอมลาออกขึ้นมา เพื่อถอดชนวนม็อบ กลไกการหาตัวนายกฯใหม่ จะเป็นอย่างไร?

ทุกอย่างจะกลับมาที่เงื่อนไขตามรธน.คนที่เข้าข่ายชิงนายกฯ จะอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ทุกพรรคเสนอไว้ในช่วงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ จะหมดโอกาสเสนอคนใหม่ทันทีเพราะเสนอชื่อ “บิ๊กตู่” คนเดียว พรรคภูมิใจไทยมีความเป็นไปได้สูงสุดในเกมนี้ เสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกฯ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หันมาดูฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย เสนอ 3 ชื่อ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ชัยเกษม นิติสิริ พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่พรรคถูกยุบไปแล้ว ส่วนพรรคเล็กได้ ส.ส.ไม่เกิน 25 เสียง ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

รายชื่อทั้งหมดคนที่เป็นไปได้มากที่สุด คนในขั้วพรรครัฐบาลเดิม เพราะรธน.นี้ล็อคให้กับเครือข่ายคสช. ว่า การเลือกนายกฯ จะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียง กล่าวคือต้องมีเสียง สว.ต้องสนับสนุนด้วย นั่นคือปิดทางพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อชิงนายกฯ ตัวเลือกที่เป็นไปได้มากสุดคือ "อนุทิน" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข แต่เจ้าตัวประกาศแล้วว่า จะขอเป็นแค่รองนายกฯ ที่มีนายกฯชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะขึ้นเป็นนายกฯ กรณี “บิ๊กตู่” เกิดยอมลาออกขึ้นมา

หลายคนจับตาที่"อนุทิน"ว่า จะเป็นคู่แข่งนายกฯคนใหม่หลังการเลือกตั้ง มีผลงานจับต้องได้เรื่องนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ประสบการณ์การดูแลกระทรวงสาธารณสุขที่คุมโควิดจนเป็นที่ยอมรับของประเทศ และสายสัมพันธ์ที่มีกับชนชั้นนำของเขา อีกทั้งศักยภาพของพรรคภูมิใจไทย ก็กำลังขยายฐายเสียงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

หาก"อนุทิน"ขึ้นเป็นนายกฯ แล้วม็อบราษฎรจะยอมหรือไม่ คาดว่า การกดดันอาจลดระดับลง แต่ก็ไม่หายหมดเสียทีเดียว เพราะยังมีข้อเรียกร้องที่คาอยู่คือ ปล่อยแกนนำ และ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ "อนุทิน"เองเป็นสายสีน้ำเงินเต็มตัว ประกาศ เทิดทูนสถาบันเหนือหัว ไม่มีทางยอมข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันแน่

ขณะเดียวกัน หากมีการปล่อยตัวแกนนำนักศึกษาด้วยการให้ประกันตัว เชื่อว่า “อานนท์-รุ้ง-เพนกวิน-ไมค์ -ไผ่” จะยังคงขึ้นเวทีปราศรัย ปลุกม็อบเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันต่อไป เหมือนอย่างที่เคยได้รับการประกันตัวและกลับมานำม็อบ วิจารณ์ปมปัญหาสถาบัน ดังนั้น หาก"อนุทิน"ขึ้นเป็นนายกฯ เร่งแก้รธน. จริง แต่ไม่ตอบสนองเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ก็จะถูกม็อบไล่บี้อีก ไม่ต่างจาก “บิ๊กตู่”

อีกสมการ หากในอนาคต รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมอีก เกิดความรุนแรงขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ไม่ได้ ยอมลาออก เปิดทางตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ซึ่งภาคประชาชนบางกลุ่มได้เรียกร้องโมเดลนี้ให้มาแก้วิกฤต มีนายกฯคนนอก มาบริหารประเทศช่วงสั้นๆ 1-2 ปี ทำภารกิจแก้ไขรธน.เดินหน้าตั้งสสร.ให้สำเร็จ อยู่จนกว่าจะร่างเสร็จทั้งฉบับ จากนั้นยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ตามรธน. กำหนดในมาตรา 272 แนวทางนายกฯคนนอก ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยเสียง 2 ใน 3 ซึ่งต้องมีเสียง สว. จำนวนมากลงมติสนับสนุน ก็สามารถลงมติเลือก “คนนอก” ที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองมาเป็นนายกฯ ได้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ แม้จะถูกหยิบมาพูดทุกครั้ง แต่การเผชิญหน้าสองขั้วครั้งนี้หนักหน่วงกว่าทุกครั้ง และหมดยุค “คนกลาง” ที่แต่ละฝ่ายให้การเชื่อถือว่า ใครเหมาะจะมาเป็นนายกฯคนกลาง ต่างจากวิกฤตครั้งก่อน จึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าประกาศไม่เอารัฐบาลแห่งชาติให้เหตุผลว่า เป็นวิธีสมยอมให้กับฝ่ายชนชั้นนำเข้ามาครอบงำ และเชื่อว่า รัฐบาลแห่งชาติจะไม่มีทางผลักดันการปฏิรูปสถาบันแน่ ถ้าพรรคก้าวไกล ไม่เอาด้วย พรรคเพื่อไทยแกนนำฝ่ายค้านก็ยากที่จะเข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติเช่นกัน

การเปลี่ยนรัฐบาล หรือ บิ๊กตู่ลาออก จึงเป็นเรื่องยาก แต่ในกระดานการเมือง บิ๊กตู่ยังมีตัวช่วยที่พอจะคลี่คลายสถานการณ์ นอกจากใส่เกียร์ 5 เร่งเดินหน้าแก้ไขรธน. ทันทีที่เปิดสภา 1 พ.ย. เพื่อร่างกติกาที่เป็นธรรมและเป็นของประชาชนทุกฝ่าย รวมถึง การไม่ตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริงกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับเหมาเข่ง แต่หากเลือกเดินหน้าสู้จัดมวลชนมาสนับสนุน ก็รังแต่จะเกิดการเผชิญหน้าเป็นความรุนแรงขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศ

อีกข้อ ควรที่จะประกาศโรดแมปให้ชัดเจนจะดำรงตำแหน่งถึงเมื่อไร เพื่อถอดปมความขัดแย้งที่มีรากเหง้ามาจากการรัฐประหาร การใช้กลไก คสช.มา 6 ปี “บิ๊กตู่” คือ หัวหน้าคณะรัฐประหาร และ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้เปรียบจากกติกาของที่ตัวเองสร้างขึ้น รัฐสภาที่จะมาแก้ไขรธน.หรือเปิดสภาเพื่อหาทางออก จึงกล่าวไม่ได้เต็มปากว่า รัฐสภาเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมด เพราะเป็นตัวแทนเครือข่ายคสช.ถึง 1 ใน 3 ของที่นั่งในสภา การใช้รัฐสภาหาทางออก ฟังดูอาจมีเหตุผล แต่เมื่อสภายังเป็นกลไกของต้นเหตุแห่งปัญหา ปมปัญหาจึงยังดำรงอยู่ ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ “ความไม่เป็นธรรมจากกติกา” ความขัดแย้งก็จะขยายวงหนักหน่วงไม่สิ้นสุด การเร่งแก้ไขรธน.ด้วยความจริงใจ ไม่เตะถ่วง จึงเป็นทางออกที่ต้องรีบทำในขณะนี้