posttoday

สว.เรียงหน้าค้านตั้งสสร.เสนอให้ปิดสวิตซ์ส.ส.ด้วยการยุบสภา

23 กันยายน 2563

สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ค้านตั้งสสร.ยกร่างรธน.ใหม่อ้างมีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ และสิ้นเปลืองงบประมาณทำประชามติ โดยสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ประชุมรัฐสภา ได้มีการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ2560 โดย ส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายคัดค้านการตั้งส.ส.ร.เนื่องจากเกรงว่า เป็นการตีเช็กเปล่า ไม่รู้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง และมีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ และสิ้นเปลืองงบประมาณทำประชามติ โดยสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน อาทิ พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ ส.ว.อภิปรายว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ การให้มีส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการทรยศต่อ 16.8 ล้านเสียงที่เห็นชอบรัฐ ธรรมนูญฉบับนี้ และยังสิ้นเปลืองงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ในการทำประชามติ แทนที่จะเอาเงินไปซื้อวัคซีนโควิด-19 ไม่รู้คิดถึงคนไทยหรือคิดถึงวาระซ่อนเร้นของตัวเอง ดังนั้นควรแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราจะเหมาะสมกว่า ตนยินดีที่จะสนับสนุนการแก้ไขรายมาตราเรื่องให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ

ด้าน นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว.อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ระบุให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีแต่ให้แก้เพิ่มเติมเท่านั้น ดังนั้นการขอแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับคือ การล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เกรงว่า อาจมีการไปยื่นให้อัยการสูงสุด หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่

ทั้งนี้เพราะอาจถูกกล่าวหากระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา49 รวมถึงอาจถูกป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาเรื่องจงใจปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค ตัดสิทธิการเมือง 10ปี และถูกฟ้องคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนการปิดสวิตช์ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา272นั้น ถามว่า ส.ว.250คน ทำผิดอะไร ถึงขั้นจะปิดสวิตซ์ส.ว.ไม่ให้ทำตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ ส.ว.อยู่มาไม่ถึง 2ปีจะปิดสวิตช์แล้ว ขณะนี้ประเทศมีปัญหามากมาย นายกฯควรปิดสวิตช์ส.ส.ด้วยการยุบสภา เลือกตั้งใหม่จะเป็นทางออกที่ดีกว่า

นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. กล่าวยอมรับว่า เป็นผู้หนึ่งที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ และเมื่อ ส.ส. เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่า ส.ว.ไม่ควรเป็นอุปสรรคการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ และจะได้ไม่เป็นต้นเหตุให้รัฐธรรมนูญสิ้นอายุโดยไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้โดยไม่ยากเกินไป แต่ก็ไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะนำมาซึ่งความพอใจของประชาชนโดยรวมเช่นกัน พร้อมยกตัวอย่างต่างประเทศที่แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็น หากแก้ไขทั้งฉบับอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งโดยไม่สิ้นสุด

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.กล่าวว่า ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติไม่เหมาะกับสถานการของประเทศที่มีการระบาดโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เราก็ต้องมานั่งพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อจัดตั้งส.ส.ร. ทั้งของพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล ครั้งหนึ่งเคยมีการตั้งส.ส.ร.มาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นมีการอภิปรายว่าเปรียบเหมือนลูกฆ่าแม่ และเป็นการตีเช็คเปล่า ต่อมาปี 55 มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องตามเจตนารมของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาจากการลงมติของประชาชน ก็ควรให้ประชาชนได้ประชามติเสียก่อนว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นี่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นที่มาที่เป็นของการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งกำหนดให้ต้องทำประชามติเมื่อแก้ไขในหมวด15 โดยต้องทำถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อตั้งส.ส.ร. และมีรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งหมดต้องใช้งบประมาณถึง 12,000-13,000 ล้านบาท

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายสาเหตุที่ทำให้นักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่ไม่ดีไม่ชอบ เช่น มาตรา 9 ว่าด้วยเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ ซึ่งมีผลให้ส.ส. ส.ว. ไม่อาจดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ห้ามเข้ารับหรือก้าวก่ายสัมปทานของรัฐ ห้ามแปรงบประมาณ ผมไม่แน่ใจว่าประเด็นดีๆเหล่านี้จะคงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เป็นประเด็นที่ทำให้คิดหนัก และไม่ด้วยกับการตั้งส.ส.ร.” นพ.เจตน์ กล่าว