posttoday

"เสรีพิศุทธิ์"ลั่น ประยุทธ์ต้องพ้นเก้าอี้นายกฯ รธน.ถึงไม่สืบทอดอำนาจ

23 กันยายน 2563

"เสรีพิศุทธิ์" ชี้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ ตราบใดที่ "ประยุทธ์" ยังเป็นนายกฯ จี้ปชป.-ภท.ถอนตัวจากพรรคร่วมกดดันให้ลาออกจากนายกฯ

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 63 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายในการประชุมรัฐสภาว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้นให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดทที่เหลืออีก 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย จากนั้นก็ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตามขั้นตอน เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ให้ยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 60 จัดทำขึ้นตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อสืบทอดอำนาจต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร และมีการโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ระหว่างนั้นก็เกิดเรื่องทุจริตหลายครั้งแต่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ เช่น อุทยานราชภักดิ์, เครื่องตรวจระเบิด GT-200, นาฬิกาหรู, การขุดลอกคลองของทหารผ่านศึก เป็นต้น

ขณะที่การแต่งตั้ง ส.ว.ชุดปัจจุบันเรียกว่าเป็นวุฒิสภาเพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลเหมือนในอดีต แม้ที่ผ่านมาจะมาจากการเลือกก็ตามแต่ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นสภาผัวเมีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการอภิปรายของหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยมีสมาชิกรัฐสภาลุกขึ้นประท้วงหลายครั้ง เนื่องจากมีการกล่าวเสียดสีและพาดพิงถึงบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ทั้งที่เป็นสมาชิกรัฐสภาและบุคคลภายนอก ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้กล่าวเตือนหลายครั้งเช่นกัน