posttoday

"เพื่อไทย"ขีดกรอบเวลาแก้ไขรธน.หลังมีส.ส.ร.ไม่ควรเกิน 8 เดือน

03 สิงหาคม 2563

พรรคเพื่อไทยระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากมีส.ส.ร.ไม่ควรใช้เวลาเกิน 8 เดือน หากต้องการผลักดันให้เป็นทางออกของประเทศ เนื่องจากมีปัจจัยที่เป็นวิกฤตของประเทศหลายอย่าง

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วย กับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ และทำให้เงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น พร้อมทั้งเห็นว่าเงื่อนเวลาที่ทำอยู่นั้นอาจจะช้าเกินไป เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันจากการประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ภาวะการเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลและภาวะที่เกิดขึ้นในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม หากต้องการผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกของประเทศไทยต้องมีเงื่อนเวลาที่เร็วกว่านี้ โดยมองว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถย่นระยะเวลาให้เร็วกว่านี้ได้ ดังนั้นทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ควรจะเกิน 7-8 เดือน รวมเบ็ดเสร็จไม่เกิน 1 ปี เพราะมองว่า ในการยกร่างนั้นมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นต้นแบบอยู่แล้ว ดังนั้นหลังจากมี ส.ส.ร.แล้วในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงไม่ควรเกิด 7 -8 เดือน

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.ออกมาคัดค้านการตั้งส.ส.ร.เพราะเปรียบเสมือนเป็นการตีเช็คเปล่าว่า ที่ผ่านมามีการตีเช็คเปล่าโดยที่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชนมาจำนวนมากหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา  การให้มีส.ว.ลากตั้ง 250 คน เหล่านี้คือการตีเช็คเปล่าของจริง และคนที่คิดเช่นนี้คือคนที่มองไม่เห็นความสำคัญของประชาชน แต่การตั้งส.ส.ร.จะมาจากประชาชนเปรียบเสมือนการตีเช็คของจริงเต็มจำนวน ในการกำหนดทิศทางของประเทศ

"เพื่อไทย"ขีดกรอบเวลาแก้ไขรธน.หลังมีส.ส.ร.ไม่ควรเกิน 8 เดือน

ด้านนายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ มีการหารือกันในเรื่องการตั้งส.ส.ร.และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกสังคมกล่าวหาว่า ร่างโดยคณะรัฐประหารแม้จะมีการประชามติ แต่ก็เป็นประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม ดังนั้นความขัดแย้งแตกแยกทั้งหลาย เกิดจากกติกาใหญ่ที่จะใช้กับทุกคนไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง ดังนั้นหากทำให้กติกาดังกล่าวมาจากประชาชนเลือกตั้งกันมา แล้วนำมายกร่างเสร็จกลับไปประชามติโดยประชาชน หากเห็นชอบก็จะเป็นกติกาแรกของประเทศไทย โดยมองว่าทางออกดังกล่าวนี้ เป็นกระบวนการวิธีการที่ยุติธรรมต่อทุกฝ่ายในสังคม ขณะเดียวกันวิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ด้วยเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้นั้น ควรจะแก้ไขให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของรัฐสภา แม้จะมีส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งถึง 250 คนก็ตาม ดังนั้น 2 อย่างนี้ต้องเดินไปด้วยกัน