posttoday

"ไพบูลย์"ชงเลื่อนญัตติปลด "เสรีพิศุทธ์" ขึ้นพิจารณาก่อนญัตติซักฟอกรัฐบาล

03 กุมภาพันธ์ 2563

"ไพบูลย์" เสนอเลื่อนญัตติปลด "เสรีพิศุทธ์" พ้นกรรมาธิการปราบทุจริตขึ้นพิจารณา ก่อนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามีมติให้พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พ้นจากการเป็นกรรมาธิการ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 108(5) โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นผู้เสนอ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองจำนวน 51 คนนั้น ได้ปรากฏในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ 5 ก.พ. 63 วาระการประชุมที่ 6.9 แล้ว คาดว่าจะมีการขอเลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมสภา ก่อนวันที่จะมีการพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน

ในญัตติดังกล่าวได้มีสาระสำคัญว่าพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ผู้ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งต่อมาได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการคณะดังกล่าว พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้กระทำการตรวจสอบการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในเขตพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้วางพระราชหฤทัยให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินไปแล้ว

ดังที่ปรากฏตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 35/2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งว่า “การถวายสัตย์ปฎิญาณต่อพระมหากษัตริย์ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์” และปรากฎในส่วนท้ายว่า “หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฎิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสเพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน

และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 62 เวลา 9.00 นาฬิกา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฎิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ชั้น 5 ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฎิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด”  

แต่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ได้อาศัยสถานะความเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำการตรวจสอบการถวายสัตย์ปฎิญาณของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทั้งที่เรื่องดังกล่าวอยู่ในเขตพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้วางพระราชหฤทัย ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินไปแล้ว แม้นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 กรรมาธิการฯจำนวน 8 คน  ซึ่งเป็นเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการฯได้มีมติให้ยุติการตรวจสอบการถวายสัตย์ปฎิญาณของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการฯยังฝ่าฝืนที่จะดำเนินการตรวจสอบการถวายสัตย์ปฎิญาณของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ จึงไม่สมควรที่จะปฎิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการฯและกรรมาธิการฯอีกต่อไป โดยเหตุที่ได้ปฎิบัติหน้าที่ไปโดยไม่มีอำนาจตรวจสอบ ดังที่ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 35/2562 และ ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อที่ 90 (22) และฝ่าฝืนมติกรรมาธิการฯเสียงข้างมาก

ดังนั้น จึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าวมาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 45 และข้อ 50 ประกอบข้อ 108 (5) เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาดำเนินการมีมติให้พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ พ้นจากการเป็นกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนเหตุผลและรายละเอียดต่างๆจะได้แถลงและชี้แจงในที่ประชุมสภาฯต่อไป