posttoday

ร้ายสาระยิ่ง! "หมอจุ๊ก" มองไอเดีย "ธรรมนัส" จ่อใช้งบ 1.8 หมื่นล้านทำหมอนยางพาราแจก

22 ธันวาคม 2562

นพ.สุภัทร มองรัฐบาลจะทำหมอนยางพาราแจก 30 ล้านใบหวังแก้ราคาตกต่ำร้ายสาระ ถามใครได้ประโยชน์โรงงานหรือเกษตรกร แนะต้องเปลี่ยนวิถีชาวสวนยาง

นพ.สุภัทร มองรัฐบาลจะทำหมอนยางพาราแจก 30 ล้านใบหวังแก้ราคาตกต่ำร้ายสาระ ถามใครได้ประโยชน์โรงงานหรือเกษตรกร แนะต้องเปลี่ยนวิถีชาวสวนยาง

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือ หมอจุ๊ก ผอ.โรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมประชุมกับ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการดำเนินโครงการผลิตหมอนยางพาราประชารัฐ 30 ล้านใบ มูลค่า 18,000 ล้านบาท แจกประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา และกระตุ้นเศรษฐกิจฐาน

นพ.สุภัทร ระบุว่า แจกหมอนยางพารานโยบายที่ร้ายสาระอย่างยิ่ง รัฐบาลประยุทธ์คิดอะไรไม่ออก หมดสมรรถนะในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ตั้งแต่โครงการชิมช็อปใช้คิดออกแต่แจกเงิน แจก 10,000 ล้านซื้อเรือประมงพานิชย์เอาเรือเก่าหมดสภาพที่จอดทิ้งมาขายหลวงสบายแฮ มาขายรอบนี้มาแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยเงินออกสลาก 18,000 ล้าน แจกหมอนยางพาราใบละ 600 บาท 30 ล้านใบ ไอเดียบรรเจิดจริงๆนะลุง

ทั้งนี้ คำถามมากมายเช่น ราคายางจะกระเตื้องขึ้นจริงหรือ กระเตื้องได้สักสองอาทิตย์ไหม แจกเงินรอบนี้ใครได้ประโยชน์ ใครเป๋าตุง โรงงานผลิตหมอนหรือเกษตรกร จะมีการซื้อหมอนจีนแดงราคาถูกมาสวมเข้าโครงการไหม

ผอ.โรงพยาบาลจะนะ มองว่า เงิน 18,000 ล้านเอามาทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หน่วยงานราชการและท้องถิ่นขนาด 30 kw งบแห่งละ 1 ล้านบาท ได้ตั้ง 18,000 แห่ง เป็นต้น คุ้มกว่ามากๆยังมีอีกหลายร้อยอย่างที่คุ้มกว่าไม่จำเป็นต้องโซลาร์เซลล์ แต่ไม่ใช่การแจกหมอน

นพ.สุภัทร ระบุอีกว่า ยางราคาตกต่ำคงไม่สามารถแก้ด้วยการแจกหมอนยางพารา การแก้ปัญหายางราคาตกนั้นคงแก้ไม่ได้ง่ายเพราะที่ไหนๆก็ปลูกยางจนล้นตลาด หากจะแก้ไขต้องเปลี่ยนวิถีของชาวสวนยาง ส่งเสริมชาวสวนยางรายย่อยให้พ้นจากการปลูกยางแบบสวนยางเชิงเดี่ยวที่มีแต่ต้นยาง มาทำสวนยางยั่งยืน โค่นยางหรือใช้พื้นที่รกร้างบ้างมาปลูกพืชอื่นที่มีความต้องการในพื้นที่ เช่นปลูกหมากเอากาบมาทำจานชาม ปลูกหวายมาทำเฟอร์นิเจอร์ ปลูกผักหวานมาขายตลาด ทำหลายอย่างเพื่อก้าวข้ามการพึ่งพาแต่ราคายาง รวมทั้งปฏิรูปที่ดินและสิทธิทำกินให้เกษตรกรรายย่อยจริงๆไม่ใช่ให้แต่นายทุนแบบ 1,700 ไร่ที่ราชบุรี

ราคายางแม้จะไม่ขึ้นง่าย แต่เราสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวสวนยางดีขึ้นได้ด้วยเกษตรหลากหลาย เงิน 18,000 ล้านไปส่งเสริมตรงนั่นก็ยังได้ ทำไปห้าปีสิบปี ชาวสวนยางจะลืมตาอ้าปากได้

ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ทิ้งท้ายว่า แจกหมอนยางพาราแก้ปัญหายางราตาตกต่ำ ใครได้ประโยชน์ไม่รู้ จะมีนอกมีในมากน้อยแค่ไหนไม่รู้ แต่ที่แน่ๆนี่เป็นนโยบายที่ร้ายสาระอย่างยิ่งครับ