posttoday

ศาลฎีกายกคำร้องขอให้ทรัพย์ "สมบัติ อุทัยสาง"อดีต รมช.มท. ตกเป็นของแผ่นดิน

29 พฤศจิกายน 2562

ศาลฎีกานักการเมืองยกคำร้องขอให้ทรัพย์ “สมบัติ อุทัยสาง” อดีตรมช.มหาดไทย ตกเป็นของแผ่นดิน เหตุระยะเวลาพ้นอำนาจไต่สวนป.ป.ช.

ศาลฎีกานักการเมืองยกคำร้องขอให้ทรัพย์ “สมบัติ อุทัยสาง” อดีตรมช.มหาดไทย ตกเป็นของแผ่นดิน เหตุระยะเวลาพ้นอำนาจไต่สวนป.ป.ช.

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ศาลฎีกา เเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำที่ อม. 209/ 2561  หมายเลขแดงที่ อม.258 / 2562 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินนายสมบัติ อุทัยสาง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นางสุจิวรรณ อุทัยสางกับพวกรวม 4 คน ผู้คัดค้าน ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน โดยศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง  วินิจฉัยในสาระสำคัญว่าด้วยพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2552 

โดยมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่ากรณีที่จะมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ จะต้องกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เสียก่อน และการกล่าวหาดังกล่าวจะต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น

คดีนี้ทรัพย์สินที่เป็นมูลเหตุของการร่ำรวยผิดปกติ คือเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาคอนแวนต์จำนวน 3 บัญชี และเงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์สาขาพุทธมณฑลจำนวน 5 บัญชี โดยนำฝากระหว่างวันที่ 12  มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2543  อันเป็นช่วงระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แต่ระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ จนกระทั่งผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเกิน 2  ปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 75 แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมมีผลทำให้คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณากรณีดังกล่าว

แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (ฉบับที่ 2)  พ.ศ.2545 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 26 และมาตรา 75 แต่ไม่มีบทบัญญัติใดให้นำมาตรา 66 และมาตรา 75 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ล่วงพ้นกำหนดเวลาที่คณะกรรมการป.ป.ช.จะรับพิจารณาไต่สวนไปแล้ว  จึงไม่ทำให้อำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่สิ้นสุดลงไปแล้วกลับมีอำนาจขึ้นอีก

อีกทั้งคณะกรรมการป.ป.ช. มีคำสั่งที่ 23/ 2552 ลงวันที่ 14 มกราคม 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่ำรวยผิดปกติ เป็นกรณีที่จะต้องบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยร่ำรวยผิดปกติตามที่ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น  

คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่มีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยอ้างอิงตำแหน่งทั้งสองนี้ เพื่อเป็นเหตุทำให้เกิดอำนาจไต่สวนย้อนหลังไปถึงทรัพย์สินที่ได้มาเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาไต่สวนแล้วได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้สั่งให้เงินฝากของผู้ถูกร้องตกเป็นของแผ่นดินได้ ศาลจึงพิพากษายกคำร้อง