posttoday

นายกฯ ดึง"สตาร์ทอัพ"ระดมคิดนวัตกรรมช่วย "ตลาดสด"สู้ค้าปลีกออนไลน์

15 พฤศจิกายน 2562

นายกฯ ดึง"สตาร์ทอัพ"ระดมคิดนวัตกรรมช่วย "ตลาดสด"สู้ค้าปลีกออนไลน์ พร้อมเร่ง ‘ปลดล็อค’ ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเอื้อธุรกิจสตาร์ทอัพเข้าไปแข่งขัน การันตีทุกภาคส่วนลงขันดันสตาร์ทอัพไทยไปสู่ระดับ “ยูนิคอร์น” ให้ได้

นายกฯ ดึง"สตาร์ทอัพ"ระดมคิดนวัตกรรมช่วย "ตลาดสด"สู้ค้าปลีกออนไลน์ พร้อมเร่ง ‘ปลดล็อค’ ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเอื้อธุรกิจสตาร์ทอัพเข้าไปแข่งขัน การันตีทุกภาคส่วนลงขันดันสตาร์ทอัพไทยไปสู่ระดับ “ยูนิคอร์น” ให้ได้

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562 ในรายการ Government Weekly จัดขึ้นทุกวันศุกร์ เวลา 15.00 น. ผ่านทาง เพจ “ไทยคู่ฟ้า” ในช่วง PM Talk โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สัปดาห์นี้ร่วมพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพจนประสบความสำเร็จมาร่วมแชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือและการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตไปสู่ระดับ “ยูคอร์น” ในอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าธุรกิจเริ่มต้น หรือ ธุรกิจสตาร์ทอัพถือเป็นภาคธุรกิจที่ตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทางภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ถือเป็นนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดไปสู่โลกภายนอกด้วย “นวัตกรรม” และ “ความคิดสร้างสรรค์” จากผู้ประกอบการเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ ซึ่งนับวันตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2559 ธุรกิจสตาร์ทอัพจดทะเบียนไปแล้ว 200 ราย ต่อมาในปี 2561 – 2562 จดทะเบียนไปแล้ว 1,500 ราย ล่าสุดมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่รอการจดทะเบียนอีก 8,500 ราย สามารถสร้างงาน 1.5 หมื่นอัตรา และ สร้างรายได้สูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยในทุกระดับตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ก้าวกระโดดไปสู่ระดับ “ยูนิคอร์น” ตั้งเป้าหมายภายใน 10 ปี ต้องมี ยูนิคอร์นสัญชาติไทย 1 ราย

ดังนั้นทางรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน ตั้งแต่การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ การบ่มเพาะนวัตกรรมและองค์ความรู้ หรือการจัดการปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ โดยวางเป้าหมายสูงสุด คือ ประเทศไทยต้องผลิตธุรกิจสตาร์ทอัพไทยให้ไปสู่ระดับ “ยูนิคอร์น” ที่มีมูลค่าการลงทุนมหาศาล โดยทั้งภาครัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงสถาบันการศึกษาต้องมาร่วมส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและองค์ความร่วม เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เติบโตจากธุรกิจสตาร์ทอัพ ก้าวไปสู่ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือ ไล่ระดับจาก Series A เม็ดเงินระดมทุน 2 -15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปสู่ ระดับ Series B เม็ดเงินระดมทุนกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนไปสู่ระดับยูนิคอร์น เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายกฯลั่น ‘ปลดล็อค’ ระบบจัดจ้างเอื้อสตาร์ทอัพ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนมาธุรกิจสตาร์ทอัพมาโดยตลอดผ่าน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า อย่างไรก็ตามทางภาครัฐจะลงทุนหรือสนับสนุนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีกองทุนร่วม หรือ Venture Capital หรือ VC เข้าไปลงทุน เช่น ธนาคารออมสิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เมืองไทยประกันชีวิต หรือ กลุ่มมิตรผล เป็นต้น คาดว่ามีเม็ดเงินจาก VC ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพไทยขณะนี้ประมาณ 515 ล้านบาท เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพ 2 บริษัทที่มาร่วมพูดคุยเป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับการสนับสนุน คือ iTAX เว็บไซต์และแอปพลิเคชันมาช่วยวางแผนการยื่น "ภาษี" ให้เป็นเรื่องสะดวกสบายยิ่งขึ้น ถือเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพประเภท Fintech ได้ร่วมมือกับกรมสรรพากร หรือ Arincare แพลตฟอร์มสำหรับผู้ป่วยสามารถไปรับยาได้ที่ ร้านขายยาและเภสัชกรใกล้บ้าน ที่มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาความแออัดการใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ถือเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพประเภท Healthtech ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เอื้อต่อธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น หรือ สนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยเข้ามาช่วยสนองความต้องการด้าน “ธุรกิจนวัตกรรมการบริการภาครัฐ” เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการให้บริการภาครัฐด้านอื่นด้วย เช่น ด้านความมั่นคง ด้านสังคม หรือ ด้านอื่น ๆ เป้าหมายคือประชาชนต้องเข้าถึงบริการภาครัฐด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เหมือนกับการบริหารด้านสธารณสุขในการรับยาใกล้บ้านเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล หรือ การบริการจ่ายภาษีของกรมสรรพากรเพื่อให้ประชาชนใช้บริการภาครัฐได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น นี่คือเป้าหมายและแนวทางของภาครัฐที่จะสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพไทยได้เติบโตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3 หมื่นล้านบาท

นายกฯแนะสตาร์ทอัพช่วยคิดนวัตกรรมช่วย ‘ตลาดสด’

อย่างไรก็ตามสำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากการทุ่มตลาดของธุรกิจสตาร์ทอัพจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเบื้องต้นสตาร์ทอัพไทยต้องพัฒนาศักยภาพด้านขีดความสามารถทางการแข่งขันในการพัฒนาสินค้าบริการหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ขณะนี้ภาครัฐสนับสนุนโครงการสมาร์ทซิตี้ หรือ “เมืองอัจฉริยะ” จึงมีความจำเป็นและต้องการนวัตกรรมหรือการให้บริการอันทันสมัยต่าง ๆ จากธุรกิจสตาร์ทอัพ เช่น ที่อยู่อาศัย การค้า การท่องเที่ยว หรือ การรักษาพยาบาล ที่ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยต้องสร้างนวัตกรรมมาตอบสนองให้ได้แบบครบวงจร ด้วยกลยุทธ์ทะเลสีคราม หรือ Blue Ocean Strategy มาพัฒนาสินค้าหรือบริการที่มีคุณค่าแตกต่างจากคู่แข่ง ดังนั้นอยากให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพช่วยกันนำเสนอความคิดที่สร้างสรรค์ต่อรัฐบาล หรือ ดีป้า ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ได้ฝากข้อคิดให้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้ช่วยคิดแนวทางในการการช่วยเหลือธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม คือ “ตลาดสด” เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า “ธุรกิจการค้าออนไลน์” ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมอย่างมาก เพราะผู้บริโภคนิยมไปซื้อสินค้าในตลาดสดนับวันน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นอยากให้ธุริกจสตาร์ทอัพช่วยหาแนวทางเข้ามายกระดับหรือพัฒนาธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมควรจะปรับตัวอย่างไร ด้วยการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเชื่อมโยงการค้ายุคเก่ากับการค้ายุคใหม่เข้าด้วยกัน เช่น ระบบโลจิสติกศ์ หรือ การทำบัญชี เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนที่ค้าขายในตลาดสดที่ยังดำเนินธุรกิจแบบเดิมอยู่ไม่ตกขบวนจากความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เพราะนี่คืออนาคตประเทศไทย รัฐบาลพร้อมสนับสนุนความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ สิ่งสำคัญเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเราต้องเปลี่ยนตาม