posttoday

มติผู้ตรวจฯส่งศาลรธน. “พรบ.คำสั่งเรียก” ขัดรธน.

15 พฤศจิกายน 2562

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ เหตุ “พรบ.คำสั่งเรียก” ขัดรัฐธรรมนูญ ชี้"กมธ."ไม่มีอำนาจ "ออกคำสั่งเรียก"

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ เหตุ “พรบ.คำสั่งเรียก” ขัดรัฐธรรมนูญ   ชี้"กมธ."ไม่มีอำนาจ "ออกคำสั่งเรียก"

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องร้องเรียน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาวินิจฉัยเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณี พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 135 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภามีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาอยู่นั้นได้ และเพื่อให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ได้กำหนดกลไกการดำเนินกิจการของทั้งสองสภาไว้ในมาตรา 129 โดยบัญญัติไว้ว่า ให้คณะกรรมาธิการทั้งสองสภามีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้น และได้บัญญัติวิธีการบังคับไว้เป็นการเฉพาะซึ่งเป็นมาตรการเชิงบังคับเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาต้องการในวรรคห้าของมาตรา 129 ว่าให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการที่คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษา ที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภาเรียก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้คณะกรรมาธิการของทั้งสองสภากระทำกิจการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสองสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 129 จึงไม่ได้บัญญัติให้มีกฎหมายบังคับการเรียกและมิได้มุ่งเน้นที่จะลงโทษทางอาญาต่อบุคคลผู้ถูกเรียก กล่าวคือคณะกรรมาธิการมีอำนาจเพียง “เรียก” มิได้ให้อำนาจในการ “ออกคำสั่งเรียก” ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีความเห็นว่าพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 129

จึงอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติในมาตรา 231(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 23(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นดังกล่าวข้างต้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไปในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562