posttoday

ธนพรสวน"เต้ มงคลกิตติ์"ชี้ไม่มีเหตุเลิกเพลงชาติไทย

07 พฤศจิกายน 2562

"ธนพร"สวน"เต้ มงคลกิตติ์"ปมขอยกเลิกเพลงชาติไทยให้ใช้เพลงความฝันอันสูงสุด ชี้การทำความดีกับกรณีแสดงความเป็นรัฐชาติถือเป็นคนละส่วนกัน

"ธนพร"สวน"เต้ มงคลกิตติ์"ปมขอยกเลิกเพลงชาติไทยให้ใช้เพลงความฝันอันสูงสุด ชี้การทำความดีกับกรณีแสดงความเป็นรัฐชาติถือเป็นคนละส่วนกัน

นางสาวธนพร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า กรณีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ เสนอให้ยกเลิกเพลงชาติไทยที่ใช้ในปัจจุบันเพื่อให้มีการปรับปรุงใหม่ โดยให้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบันด้วย และระหว่างนี้ก็ขอให้ใช้เพลง “ความฝันอันสูงสุด” ไปพลางก่อน หากพิจารณาเนื้อหาเพลง ความฝันอันสูงสุด เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 43 ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2514 เพื่อส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ แต่หากพิจารณาถึงเนื้อหาเพลงชาติไทย สะท้อนถึงความรักชาติ รักแผ่นดิน สะท้อนถึงความเป็นชาติ แม้เพลงจะแต่งและนำมาใช้ในยุคคณะราษฎร์สืบเนื่องถึงยุคปัจจุบัน แต่เนื้อหาเพลงชาติและภาพประกอบในปัจจุบัน ยังแสดงความถึงความเป็นสยามเมืองยิ้ม และความสำคัญของชาติไทยต่อเนื่องตลอดมา เพลงชาติไทยยังมีความเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆตลอดรุ่นลูกหลานให้รักชาติต่อไป จึงยังไม่มีเหตุในการยกเลิกเพลงชาติแล้วให้ใช้เพลงอื่นแทนเพราะการทำความดี เป็นจิตสำนึกในการทำความดี กับกรณีความเป็นชาติหรือความเป็นรัฐชาติถ่ายทอดเป็นเอกลักษณ์ไทยมาเป็นเพลงชาติ ถือเป็นคนละส่วนกัน

นอกจากนี้ เพลงชาติไทย ถือเป็นเหมือนหนึ่งเครื่องมือที่คอยบอกเล่าให้คนในชาติ มีความรัก และเทิดทูนไว้ซึ่งแผ่นดินเกิด ในเนื้อเพลงได้บอกเล่าวีรกรรมของบรรพบุรุษในชาติ ว่ากว่าจะได้มาซึ่งบ้านเกิดให้เรามีกิน ต้องผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ผ่านความยากลำบากมาขนาดไหน เราถึงได้ครอบครองเป็นเจ้าของเช่นในทุกวันนี้ หากมองเป็นความหมายโดยตรง ก็คงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้เราตระหนัก  และระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนแห่งนี้อยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่บริเวณไหนของโลกใบนี้ก็ตาม ผ่านการเปล่งเสียงเพลงชาตไทยร้องร่วมกันจนเป็นประเพณีปฏิบัติที่สมควรกระทำในทุกๆ วัน

อีกทั้งประเทศทั่วโลกต่างก็มีเพลงประจำชาติเป็นของตนเอง ไม่เว้นแม้แต่บ้านเราที่ก็มี“เพลงชาติไทย ”มาตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งในสมัยนั้นที่ประเทศสยามยังปกครองด้วยระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราช” ได้มีการใช้ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” เป็นเพลงเพื่อถวายความเคารพกษัตริย์ต่างชาติที่เสด็จเยี่ยมประเทศสยามตามธรรมเนียมสากล จนมาถึงปีพุทธศักราช 2482 รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขเพลงประจำชาติไทยใหม่ โดยเปิดให้มีการส่งเนื้อเพลงชาติเข้าประกวด มีหลักการอยู่ว่า“ต้องแต่งให้เข้าทำนองของเพลงชาติฉบับเดิม”

การยื่นประกวดแต่งเนื้อร้องครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จนในที่สุด คณะกรรมการได้ตัดสิน คัดเลือกเนื้อร้องของ“หลวงสารานุประพันธ์”นำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัย ไม่นานจึงมีมติรับเนื้อเพลงใหม่และได้รับแก้ไขบ้างในบางช่วงตามความเหมาะสม ในวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2482 รัฐบาลได้ออกประกาศ “รัฐนิยมฉบับที่ 6” ให้ใช้ทำนองเพลงชาติของ “พระเจนดุริยางค์” ตามแบบฉบับเดิมที่กรมศิลปากร ส่วนเนื้อร้องให้ใช้ของ “หลวงสารานุประพันธ์” ซึ่งประพันธ์ทั้งหมดขึ้นใหม่ในนามของ “กองทัพบก” จึงกลายมาเป็นแบบฉบับที่เราได้ฟัง ได้ร้องกันอยู่ในทุกวันนี้