posttoday

ถกอาเซียนซัมมิท ชู “กรีนมิตติ้ง” – BCG โมเดล

01 พฤศจิกายน 2562

นายกฯ ชูธง “กรีนมิตติ้ง” – BCG โมเดล บนเวที อาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 35 เพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs

นายกฯ ชูธง “กรีนมิตติ้ง” – BCG โมเดล บนเวที อาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 35 เพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 ในรายการ Government Weekly จัดขึ้นทุกวันศุกร์ เวลา 15.00 น. ผ่านทาง เพจ “ไทยคู่ฟ้า”ในช่วง PM Talk พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดทำเนียบรัฐมนตรี ต้อนรับน้องเอเชียและน้องวิน มาร่วมพูดคุยเรื่อง การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ อยากให้พี่น้องประชาชนคนไทยมาร่วมกันภาคภูมิใจในฐานะประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนา ในส่วนวาระของการประชุมมุ่งเน้น คือ ความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเฉพาะการขับเคลื่อน “เมืองอัจฉริยะอาเซียน” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมโยงเการขับเคลื่อนการพัฒนาอาเซียนไปด้วยกัน และ ตลอดระยะเวลาที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมได้มีการประชุมหารือกัน 180 ครั้ง จัดประชุมไปทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อให้ผู้นำหรือตัวแทนผู้นำประเทศ 10 ชาติ และ คู่เจรจา 8 ชาติ ได้รู้จักประเทศไทยตั้งแต่เมืองหลัก และเมืองรอง นับเป็นการแสดงถึงศักยภาพด้านการพัฒนาและการท่องเที่ยวของไทยให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ และ ทุกครั้งที่ได้พบกับผู้นำประเทศจะย้ำเสมอถึงนโยบายหรือวิสัยทัศน์ของไทย คือ เราต้องเดินไปด้วยกัน ไม่มีใครนำใคร หรือ Strong Together เพราะการพัฒนาหรือการแก้ปัญหาต่างๆจะดำเนินการเพียงชาติใดชาติหนึ่งไม่ได้ต้องร่วมมือกันทั้งอาเซียน จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน” มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือในทุกมิติ

“อาเซียนมีประชากร 650 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ดังนั้นทุกประเทศต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้จะยากดีมีจนอย่างไร ต้องเดินหน้าไปด้วยกันเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่อาเซียน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ถกอาเซียนซัมมิท ชู “กรีนมิตติ้ง” – BCG โมเดล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายด้านการพัฒนาของอาเซียนในวันนี้ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนับเป็นวาระสำคัญของการหารือ “Green Meeting” เพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องหลายด้านตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา ทะเล หรือ ขยะพลาสติก ต้องมีการบริหารร่วมกันอย่างยั่งยืน รวมถึงปัญหาโลกร้อนทั้งที่เกิดจากปรากฎการณ์ เอลนีโญและลานีญา ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัญหาพีเอ็ม2.5 การบุกรุกผืนป่าเพื่อการเกษตร หรือ การลักลอบเผาป่า สิ่งสำคัญปัจจุบันเกิดกระแสอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นรัฐบาลในทุกประเทศไม่อาจนิ่งเฉย จำเป็นต้องมีการผลักดันในเชิงนโยบายร่วมกัน ดังนั้นการจัดประชุมอาเซียนในครั้งนี้ จึงเป็นการประชุมสีเขียว ทุกกระบวนการและขั้นตอนการจัดงานจะไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด เพราะผู้นำประเทศต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการผลักดันเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้แนวทางการ “ลดก๊าซเรือนกระจก” ของประเทศไทย คือ ควบคุมป้องกันปัญหา พีเอ็ม 2.5 ไม่ให้มีการเผาป่าโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือสำหรับภาคใต้ต้องใช้มาตรการเฝ้าระวังเพราะเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน การจัดการขยะ

ขยะต้องใช้แนวทางการบริหารจัดการเป็นระบบ แบ่งพื้นที่ 30 พื้นที่ หรือ กลุ่มจังหวัดไม่ให้มีการขนย้ายขยะข้ามกลุ่มจังหวัดหรือโซนนิ่ง พร้อมกับส่งเสริมสร้างโรงกำจัดขยะที่แปรขยะให้เป็นพลังงานโดยประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือ และ ตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน ฟอสซิลลง 30 % ปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน 23 % พร้อมร่วมมือกับค่ายรถยนต์ให้ผลิตรถยนต์ที่สามารถใช้ น้ำมันไบโอดีเซล B10 เพื่อช่วยดูดซับผลผลิตปาล์มที่ล้นตลาดไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือก

นอกจากนี้ประเทศไทยเตรียมนำเสนอแนวคิด “เศรษฐกิจ BCG” ต่อชาติอาเซียนด้วย ประกอบด้วย Bio economy คือ การนำทรัพยากรชีวภาพมาผลิตให้คุ้มค่าที่สุดโดยใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุง Circular economy คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดจากของที่ใช้แล้วนำกลับมาผลิตและใช้ใหม่ และ Green economy คือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ดังนั้นการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ แม้จะสร้างมูลค่าสูงต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับต้องนำแนวคิด BCG โมเดลลงไปถ่ายทอดในระดับกระทรวงศึกษาธิการด้วย อาทิเช่น การแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน หรือ การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือ ขยะพลาสติกมาทำเป็นถนน หรือ การจัดการขยะอันตรายจากแผงโซล่าเซลล์ ด้วยกระบวนการและแนวคิด BCG โมเดล ลงไปสู่ระดับชุมชน

นำแนวคิด 3R- Upcycling ขยะในงานทุกชิ้นต้องไม่เหลือทิ้ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุมในครั้งนี้มีการวางแผนและระบบเป็นอย่างดีตั้งแต่การรักษาความปลอดภัย การออกแบบเวทีหรือการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย แนวคิด “3R” คือ Reduce การลดการใช้, Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือแม้แต่แนวคิด “Upcycling” ขยะ หรือ เศษวัสดุที่ไม่ใช้ประโยชน์อีกแล้วให้เป็นวัสดุใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการเตรียมการอาหารเครื่องดื่มจะต้องไม่เหลือทิ้ง และ ไม่ใช่วัสดุจากพลาสติก พร้อมกับการ “คำนวณคาร์บอนเครดิต” ว่าการประชุมครั้งนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปจำนวนเท่าใด จำเป็นต้องชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้จำนวนกี่ต้น

“การประชุมครั้งนี้ไทยในฐานะเจ้าภาพ มีผู้เข้าร่วมกว่า 4 พันคน ต้องลด ละ เลิก ด้วยการก่อขยะให้น้อยที่สุด วัสดุต่างๆภายในงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้แต่กระดาษที่ใช้เขียนต้องไม่ทำลายป่าไม้ หรือ จานชามช้อนส้อม ต้องมาจากพลาสติกชีวภาพ ไม่มีการใช้พลาสติกเลย เด็กๆ รู้ไหม พลาติก 1 ชิ้นต้องใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี ยิ่งตกไปอยู่ในทะเลย่อมจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลอีกด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว