posttoday

สส.เสรีรวมไทย แนะ รัฐบาล เลื่อนแบน 3 สารเคมีออกไปอีก 1-2 ปี

01 พฤศจิกายน 2562

ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แนะ รัฐบาล เลื่อนการแบน 3 สารเคมีออกไปอีก 1-2 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมทั้งระบบมีเวลาปรับตัว-หาสารเคมีราคาถูกทดแทน ไม่เป็นเพิ่มภาระแก่ประชาชน

ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แนะ รัฐบาล เลื่อนการแบน 3 สารเคมีออกไปอีก 1-2 ปี  เพื่อให้อุตสาหกรรมทั้งระบบมีเวลาปรับตัว-หาสารเคมีราคาถูกทดแทน ไม่เป็นเพิ่มภาระแก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นางสาวธนพร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ลงมติแบบเปิดเผยให้ “ยกเลิก” การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คณะกรรมการพิจารณาปรับ “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง มีผล 1 ธ.ค. 2562

นางสาวธนพร กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2560 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ลงมติไม่ยอมให้มีการ “แบน” 3 สารเคมีอันตรายมาตลอด โดยกรมวิชาการเกษตรอ้างว่า ยังไม่สามารถหาสารทดแทนพาราควอตได้ มาจนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จึงมีมติให้ “จำกัด” การใช้ตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร และวันที่ 27  พฤษภาคม 2562 จึงออกมติครั้งสำคัญให้ “จำกัด” การใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดและทบทวนมาตรการจำกัดการใช้ในอีก 2 ปี นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป หากมีสารทดแทนสามารถประกาศห้ามใช้ได้โดยไม่ต้องรอถึง 2 ปี มติครั้งสุดท้าย คือ ให้จำกัดการใช้จนกว่าจะหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพและราคาใกล้เคียงกับสารเคมีตัวเดิมที่เกษตรกรรับได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี  แต่จะมีเพียง รายชื่อสารเคมี 16 ชนิดที่ กรมวิชาการเกษตรเห็นว่า เป็นสารเคมีทางเลือกที่นำมาใช้ได้ ที่สำคัญยังไม่มีใครรู้ว่า สารเคมีทางเลือกเหล่านี้จะราคาเท่าไร ประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด และยังไม่มีรายงานความปลอดภัยทางวิชาการมา สนับสนุนทั้งในแง่ตัวเกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับมีมติแบน 3 สารเคมีเกษตร พาราควอต-ไกรโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ตามแรงกดดันทางการเมืองที่ต้องการให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด อันมีผลนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ส่งผลร้านจำหน่ายสารเคมีเกษตรทั่วประเทศป่วนหนัก เหตุเหลือสต๊อกตกค้าง 34,688 ตัน มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ชาวไร่แห่ตุนก่อนขาดตลาด โดยรัฐบาลไม่ได้วางแผนว่าจะให้เกษตรกรใช้สารเคมีทางเลือกใดกันแน่ หากมีราคาสูงจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน ทั้งภาคเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศย่อมได้รับผลกระทบตามมา ดังนั้น หากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลภายในประเทศผิดพลาด ย่อมเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

นางสาวธนพร กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกสารเคมีจากสหรัฐฯ เข้าไทย พบมูลค่าส่งออกพาราควอต และไกลโฟเซต เพียง 1.3 ล้านบาทในรอบ 10 ปี ขณะที่ตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรที่ยังใช้ไกลโฟเซตอาจกลายเป็นสาเหตุที่สหรัฐฯ ร่อนหนังสือถึงไทยค้านแบนสารเคมี จากกรณีสหรัฐอเมริกาแสดงความกังวลเรื่องการแบนสารเคมีในประเทศไทยถูกตีความไปหลากหลาย บางคนมองว่าเป็นการกดดัน บางคนมองว่า เข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน อันนำไปสู่กรณีสหรัฐอเมริการะงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP (จีเอสพี) กับ สินค้าไทยมีมากถึง 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 39,650 ล้านบาท ทั้งนี้ แล้วแต่มุมมอง ซึ่งแม้จะมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย แต่การเปิดเสรีการค้าในยุคเสรีนิยมใหม่ แต่การแข่งขันการค้าต้องมีความเป็นธรรม

นางสาวธนพร กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป จะส่งผลให้สินค้าภาคการเกษตรของไทยมีปริมาณสารตกค้างไกลโฟเชตเป็น 0%  เนื่องจากไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง เพื่อสกัดในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช และได้กากถั่วเหลืองนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่มีความต้องการกว่าปีละ 2.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่ประเทศไทยจะนำเข้าจาก บราซิล สหรัฐอเมริกาและจีน ประเทศเหล่านี้ยังมีการใช้สารไกลโฟเซต

ดังนั้น ตามเงื่อนไของค์การการค้าโลก(WTO) การนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป จะต้องเป็นเมล็ดถั่วเหลืองที่มีค่าปริมาณ สารตกค้างที่ 0 % เช่นกัน  เนื่องจากเมล็ดถั่วเหลืองของบราซิลขณะนี้ยังมีปริมาณไกลโฟเซตตกค้างอยู่ที่ 10 ppb ต่ำกว่าค่าความปลอดภัยทางด้านอาหารตามที่โคเดกซ์กำหนดไว้ที่ 20 ppb  สัปดาห์หน้า บราซิลจะหยิบยกเรื่องนี้ไปหารือใน WTO หลายประเทศที่มีการใช้สารดังกล่าว อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย โดยแนวทางประเทศไทยต้องนำผลพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่ประเทศไทยวิเคราะห์เอง มายืนยันว่าปริมาณสารตกค้างไกลโฟเซตในปริมาณ 10-20 ppb นั้นมีอันตรายต่อการบริโภคอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การอาหารและยา(อย.)ของประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ให้ชัดเจน

นางสาวธนพร กล่าวว่า หากรัฐบาลยืนยันจะแบนสารเคมีทาง 3 ชนิด ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมหลายส่วน  เช่น น้ำมันถั่วเหลือง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ต้องใช้นำเข้าข้าวสาลี ที่ทุกประเทศผู้ผลิตมีการใช้สารไกลโฟเซต และยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นโปรตีนในอาหารสัตว์ 24-25 % จากสต็อกอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศ คาดว่าจะรองรับการเลี้ยงไก่เนื้อ  ไก่ไข่  สุกร และกุ้งได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น  เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน แม้ว่ากระแสสังคมที่ส่วนใหญ่ต้องการให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดก็ตาม รัฐบาลควรขยายระยะเวลาออกไป 1-2 ปี ขยายระยะเวลาอันมีผลบังคับใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปก่อนจนกว่าอุตสาหกรรมทั้งระบบจะปรับตัวได้และหาสารเคมีทดแทนที่ราคาไม่แพง ไม่เป็นเพิ่มภาระแก่ประชาชน