posttoday

วิษณุ" ชี้ ถ้าร่าง พรบ. งบฯไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้อง ลาออก-ยุบสภา

08 ตุลาคม 2562

"วิษณุ" ชี้ ร่าง พรบ. งบประมาณฯ เป็นกฎหมายสำคัญ ถ้าสภาฯ ลงมติไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ลาออก-ยุบสภา แจง รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ห้าม รมต. ที่เป็น ส.ส. ลงมติ ย้ำ คุณสมบัติ “ธรรมนัส” ไม่กระทบนั่ง รมต.

"วิษณุ" ชี้ ร่าง พรบ. งบประมาณฯ เป็นกฎหมายสำคัญ ถ้าสภาฯ ลงมติไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ลาออก-ยุบสภา แจง รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ห้าม รมต. ที่เป็น ส.ส. ลงมติ แตกต่าง รธน. 40 และ 50  ย้ำ คุณสมบัติ “ธรรมนัส” ไม่กระทบนั่ง รมต.

เมื่อวันที่  8 ต.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ว่ารัฐมนตรีที่เป็นส.ส. สามารถลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ว่า  มีการสงสัยกันในเรื่องดังกล่าว เพราะรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเขียนไว้ไม่เหมือนกัน แต่เราได้ทำความเข้าใจแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสามารถลงมติได้  ทั้งนี้เกิดจากความเคยชินเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุว่าเมื่อ ส.ส. มาเป็นรัฐมนตรีจะต้องลาออกจาก ส.ส. ภายใน 30 วัน ฉะนั้น จะเหลือแต่ความเป็นรัฐมนตรี  ซึ่งไม่สามารถไปโหวตอะไรในสภาฯได้ ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนอีกแบบหนึ่งว่า ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออก แต่รัฐมนตรีจะลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียไม่ได้ จึงทำให้รัฐมนตรีหลายคนที่เป็น ส.ส.ไม่กล้าโหวตในเรื่องงบประมาณ และไม่กล้าโหวตในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเอง  แต่เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส.ส.เป็นรัฐมนตรีในเวลาเดียวกันได้ และไม่ได้ระบุเหมือนแต่ก่อนว่าจะลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียไม่ได้ ประเด็นนี้ถูกตัดออกไปแล้ว ซึ่งก็แปลว่าสามารถลงมติได้ 

“โดยมารยาทแล้วในการลงมติไม่ไว้วางใจตัวเอง ไม่ควรจะลงมติ แต่ในเรื่องการเสนอกฎหมาย จะเป็นเรื่องงบประมาณหรือกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เป็นเรื่องมีส่วนได้เสียส่วนตัว แต่เป็นส่วนได้เสียส่วนรวม ฉะนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม และโดยสรุปก็มีรัฐมนตรีที่เป็นส.ส. มีความสงสัยอยู่ 19 คน สามารถลงมติในเรื่องงบประมาณเช่นเดียวกับลงมติในเรื่องอื่นๆ ได้”  นายวิษณุกล่าว

ต่อข้อถามว่านายกรัฐมนตรีได้กำชับรัฐมนตรีอย่างไรบ้างนั้น  นายวิษณุกล่าวว่านายกฯ ก็บอกให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน  ด้วยเหตุว่าในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี จะเป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส.ก็ตาม ก็ต้องเข้าประชุม เพราะเป็นเรื่องงบประมาณ หากมีการสอบถามเรื่องของกระทรวงใดก็สามารถที่จะช่วยอธิบายได้ โดยเฉพาะในวาระที่หนึ่ง ขณะเดียวกัน นายกฯยังกำชับว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เอาไว้พิจารณาในชั้นแปรญัตติ จึงขอให้ผู้แทนรัฐบาลที่มีอยู่ 15 คนที่จะไปเป็น กมธ. ควรเป็นคนที่มีเวลาว่างเป็นหลัก ไม่ใช่ไปเป็นโก้ๆ หลายคนคิดว่าการไปเป็น กมธ. งบประมาณเป็นเกียรติยศ  แต่ความจริงต้องนั่งประชุมตลอดเวลาถึง 60 วัน เพราะจะต้องพิจารณากฎหมายยาวนานที่สุด  และแม้จะไม่ได้ทำหน้าที่ประธานหรือรองประธานก็ถือเป็น กมธ. ซึ่งที่ประชุมจะต้องดูไปทีละมาตรา ส่วนรายชื่อรัฐมนตรีที่จะมาเป็น กมธ. ในส่วนรัฐบาล ยังได้รายชื่อไม่ครบ แต่ได้ 3 รายชื่อที่จะเป็นตัวแทนหลัก ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง ในส่วนที่เหลือจะให้แต่ละพรรคการเมืองไปหาและนำมาเสนอโดยไม่ต้องนำรายชื่อเข้าครม.อีก แต่ให้แจ้งไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเพื่อประสานกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล  โดยรายชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี เพราะมีจุดอ่อนที่อาจจะไม่มีเวลาไปนั่งเป็น กมธ.


เมื่อถามย้ำว่าการอภิปรายร่าง พรบ. งบประมาณฯ สภาฯ ได้แจ้งมาหรือไม่ว่าจะใช้เวลากี่วันนั้น  นายวิษณุกล่าวว่าเรื่องนี้รัฐบาลเป็นฝ่ายเปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในวันที่ 17 ตุลาคม และปิดประชุมวิสามัญฯ ในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีเวลารวมกันทั้งหมดประมาณ 3 - 4 วัน ซึ่งก็ต้องไปแบ่งกันเอง ถ้า สว. ไม่เอา ส.ส. ก็ได้ไปทั้งหมด แต่ถ้า สว. เอา ก็ต้องเหลือให้ สว. สัก 1 วันหรือครึ่งวัน ก็ขอให้วิปรัฐบาลไปตกลงกันเอง แต่ สว. ก็ขอเวลาไว้แล้ว เพราะเขามีเรื่องที่จะต้องทำเหมือนกัน ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่างน้อยเบื้องต้น 2 วันอยู่แล้ว ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีและวันศุกร์  ถ้าเลยจากนั้นก็เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์

เมื่อถามว่าร่าง พรบ. งบประมาณฯ ถ้าหากไม่ผ่านสภาฯ จะมีผลอย่างไรกับความรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมายนั้น นายวิษณุกล่าวว่า หลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีอยู่แล้วว่าอะไรก็ตามที่สภาฯ เสียงข้างมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล  รัฐบาลนั้นก็ไม่พึงจะอยู่ต่อไป  ซึ่งการไม่ไว้วางใจนั้นแสดงออกได้ 2 อย่าง คือ 1. ไม่ไว้วางใจโดยเปิดเผย ตรงนี้ทำโดยการลงมติไม่ไว้วางใจ 2. ไม่ไว้วางใจโดยปริยาย จะแสดงออกจากการที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายสำคัญเข้าสภาฯ แล้วสภาฯ ลงมติให้ไม่ผ่าน  ซึ่งก็แปลว่าสภาฯ ไม่ยอมให้เครื่องมือรัฐบาลไปทำงาน รัฐบาลก็ไม่ควรจะต้องอยู่ แต่วิธีที่จะไม่อยู่นั้น สามารถทำได้ 2 อย่าง คือ 1.ทำโดยรัฐบาลลาออก หรือ 2. ทำโดยออกด้วยกันทั้งคู่ (ยุบสภา)  เพราะการที่สภาฯ ไม่เห็นชอบนั้น ไม่รู้ว่าประชาชนเขาคิดอย่างไร  จึงยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ดังนั้น ทางออกสามารถทำได้ 2 อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลก และเราก็ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา โดยในอดีตก็เคยมีรัฐบาลที่ลาออกเพราะสภาฯ ลงมติไม่ผ่านกฎหมาย แต่ก็มีรัฐบาลที่ไม่ลาออกแม้สภาฯลงมติไม่ผ่านกฎหมายเช่นกัน เพราะถือว่าไม่ใช่กฎหมายสำคัญ แต่สำหรับกฎหมายงบประมาณนั้นเป็นกฎหมายสำคัญ

นายวิษณุยังให้สัมภาษณ์ชี้แจงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ กรณีถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาให้จำคุกว่า ข้อกฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง ความเหมาะสม ความควรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กรณีพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นเรื่องตรวจสอบจริยธรรมในตัวรัฐมนตรี ก็ถือเป็นสิทธิของเขา

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้หากไล่ดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 เรื่องลักษณะต้องห้ามการสมัคร ส.ส. มาตรา 101 เรื่องการสิ้นสุดสมาชิกภาพของส.ส. และ มาตรา 160 คุณสมบัติของรัฐมนตรี ถือว่าไม่กระทบอะไร ส่วนความควรไม่ควรเป็นเรื่องที่เกิดได้กับทุกคน เช่นกรณี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ซึ่งเป็นเรื่องของนายกฯ ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบตรงนั้นได้ แต่ถ้ามีปัญหาจะทำเป็นข้อสังเกต เป็นสองช่องคือช่องตามกฎหมาย และกรณีที่เป็นปัญหาในสังคม เช่นมีคดีค้างอยู่ที่ ปปช. แต่ยังไม่ถูกชี้มูล ไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติแต่ให้รู้ว่ามีคดีค้างอยู่ รัฐมนตรีคนไหนมีคดีค้างไว้เขาทำส่งไปหมดเลยเพื่อให้รู้ไว้ เพราะหากชี้มูลจะได้รู้ล่วงหน้า ซึ่งนายกฯทราบดีว่ารัฐมนตรีทั้ง 35 คนมีคุณสมบัติอย่างไร

เมื่อถามว่าหากเกิดอะไรขึ้นนายกฯ ต้องรับผิดชอบหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าต้องรับผิดชอบหรือไม่ แต่ท่านได้รับทราบแล้ว