posttoday

อุเทน ซัด ภาครัฐไร้แผนบริหารจัดการน้ำ ทำน้ำท่วม-น้ำแล้ง

17 กันยายน 2562

“อุเทน” งงฝนทิ้งช่วงนานแล้ว เหตุใด “อุบลฯ” ยังจมบาดาล ซัดภาครัฐขาดการประสานงาน-ระดมสมอง ไร้การวางแผนงานบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ

“อุเทน” งงฝนทิ้งช่วงนานแล้ว เหตุใด “อุบลฯ” ยังจมบาดาล ซัดภาครัฐขาดการประสานงาน-ระดมสมอง ไร้การวางแผนงานบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ ทำ ประชาชนเดือดร้อนทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง แนะ รัฐบาลสั่งการระดมสมองด่วน นำคนที่มีความสามารถเข้ามาช่วยงาน โอดเคยเสนอตัวช่วย แต่ถูกกีดกันเพราะเป็นคนต่างพรรค

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อครั้งมหาอุทกภัยปี 2554 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะที่ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.อุบลราชธานี ว่า หากย้อนไปเมื่อเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมาพื้นที่บริเวณนี้ยังประสบภัยแล้ง น้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอด เนื่องจากมีการกักเก็บน้ำในเขื่อนตั้งแต่ประเทศจีนลงมาถึงประเทศลาว เหตุใดรัฐบาลไทย จึงไม่ประสานงานกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว เพื่อแจ้งไปยังทางการจีนว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งอย่างหนักเพื่อขอให้ปล่อยน้ำลงมา รวมทั้งเมื่อทราบล่วงหน้าว่าจะมีมรสุมเข้า ก็ยังขาดการประสานงานที่ดี เพราะทางจีนและลาวเองก็ได้รับผลกระทบจากมรสุม จนต้องปล่อยน้ำลงมามากกว่าปกติ ไม่ต่างจากเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ที่รัฐบาลไทยขณะนั้นเกรงว่าน้ำจะแล้งจึงเก็บกักน้ำไว้มากเกิน เมื่อเกิดฝนตกใต้เขื่อนจึงกลายเป็นวิกฤตมหาอุทกภัย เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยิ่งต้องประสานงานขอความช่วยเหลือให้เขื่อนตลอดแนวแม่น้ำโขงทำการกักเก็บน้ำไว้บางส่วน หรือทยอยปล่อยน้ำมา หากปล่อยลงมามากเช่นนี้ ประเทศไทยและลาวจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
 
นายอุเทน กล่าวต่อว่า หลังจากมรสุม และภาวะฝนตกผ่านพ้นไประยะหนึ่งแล้ว แต่เหตุใดยังมีน้ำขังสูงในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี อยู่ ทั้งที่ใน จ.อุบลราชธานี นั้นมีลุ่มน้ำค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ทั้งในเชิงปัญหาเฉพาะหน้า ที่เครื่องมือของกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการบำรุงรักษาในช่วงที่ไม่เกิดวิกฤต และเมื่อเกิดวิกฤตแล้วก็ยังไม่สามารถบริหารจัดการอุปกรณ์เครื่องมือ และบุคลากรได้ดีพอ รวมทั้งยังสะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐขาดการวางแผนป้องกันอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถคำนวณห้วงเวลาการเกิดมรสุมได้ล่วงหน้า ดีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมรสุมไม่รุนแรงเท่าประเทศลาว หรือประเทศเวียดนาม แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยให้ประชาชนต้องเดือดร้อนอย่างหนัก จึงมีคำถามว่ารัฐบาลใช้คนมีฝีมือ คนที่มีความสามารถ จริงหรือไม่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทำงานมีประสิทธิภาพแค่ไหน ทั้งในกรณีน้ำท่วม หรือน้ำแล้ง

“ทั้งภัยแล้ง และน้ำท่วม ที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัส แสดงให้เห็นว่ารัฐบาล โดย สทนช. ไม่มีการวางแผนจัดการน้ำอย่างแท้จริง และไม่มีการประสานงานกันอย่างแท้จริงระหว่างผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดหรือผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การบริหารเส้นทางน้ำไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็อยากเสนอให้รัฐบาล สั่งการให้มีการระดมสมองกกว่านี้ นำคนที่มีฝีมือเข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน ซึ่งเดิมตัวผมเองก็เคยอาสาเข้าไปช่วยงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ แต่เสียดายว่า ที่ไม่สามารถเข้าถึงระดับตัดสินใจ เพราะถูกมองมาตลอดเป็นต่างพวกต่างพรรค” นายอุเทน ระบุ.