posttoday

"ตู่"เปรยจนปัญญาสู้คดี คาดสุดท้ายต้องยื่นถวายฎีกา

15 กันยายน 2562

"จตุพร"ยก 3 สำนวนคดีเป็นกรณีศึกษากระบวนการยุติธรรม ยันตัวเองประสบคดีแบบมึนงง เผยหมดทางสู้ คาดสุดท้าย "ขอถวายฎีกา"

"จตุพร"ยก 3 สำนวนคดีเป็นกรณีศึกษากระบวนการยุติธรรม ยันตัวเองประสบคดีแบบมึนงง เผยหมดทางสู้ คาดสุดท้าย "ขอถวายฎีกา"

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.62 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์พีซทีวีว่า ชะตากรรมของแกนนำ นปช.หลายคนที่ต้องเผชิญกับโทษขังคุกจากคำพิพากษาศาลฎีกา โดยเริ่มตั้งแต่คดีล้มประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ศาลฎีกาตัดสินเมื่อ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาให้จำคุก 4 ปี และจำเลยหลายคนไม่ไปฟังคำพิพากษา เพราะต้องตั้งหลักและเตรียมการให้ชีวิตครอบครัวที่อยู่ข้างนอกคุก ซึ่งเผชิญกับชีวิตยากลำบากหลายเท่ากว่าคนที่ติดคุกอยู่ข้างใน ที่สิ้นเพียงอิสรภาพ

นอกจากนี้ ในวันที่ 23 ก.ย. 2562 แกนนำ นปช.อีกจำนวนหนึ่งต้องฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีบุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยคดีนี้ค่อนข้างยากเหลือเกินกับการจะได้มามีชีวิตอิสระและเสรีภาพเหมือนเดิมอีก

นายจตุพร กล่าวว่า การมีชีวิตอยู่ไม่ง่าย คดีที่เพื่อนเรา ทั้ง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายแพทย์เหวง โตจิราการ และคนอื่น ๆ เป็นจำเลย ก็ให้กำลังใจกัน แม้จะยากเหลือเกิน ในช่วงที่ผ่านมาตนยืนอยู่หัวแถว ก็รู้ชะตากรรมหมู่มิตร ได้พูดคุยแต่ละฝ่ายเพื่อหาทางออก

“ผมไม่ต้องการให้พี่น้องผม หรือใครก็ตามต้องมาติดคุก จากความเห็นต่างทางการเมือง แต่ก็ต้องมาเจอกับสิ่งที่ผมไม่คาดคิดมาก่อน แต่นี่เป็นวิถีทาง เราจึงต้องปฏิบัติตามหลักธรรม ตามที่ท่านพุทธทาสบอก “ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง”

นายจตุพร กล่าวว่า พี่น้องตนในคดีพัทยา คดีสี่เสา ยากลำบาก ตนมีภาระที่ต้องคิดอ่าน ว่าถ้าเขากลับมาสู่เรือนจำ ตนจะเอาพวกเขาออกจากคุกได้เร็วที่สุดอย่างไร ในโชคชะตานี้ เรายังจะต้องผ่านอุปสรรคอีกมากมาย กว่าที่เราจะเดินหลุดพ้นกันไปได้

นายจตุพร ยังเล่าถึงคดีของตัวเอง โดยหลายคดีเป็นสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้น และไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือเชื่อว่าประเทศทั้งโลกไม่น่ามีคดีความเหมือนตัวเองได้รับ ดังนั้น จึงเป็นคดีกรณีศึกษา จนทำให้ชีวิตตนอยู่ในสภาพเอาแน่นอนอะไรไม่ได้

“ผมเองก็อับจนปัญญาเช่นกัน ท้ายที่สุด ผมไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ต้องยื่นถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น นายจตุพรหมดที่พึ่งในแผ่นดินแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงตรัสเอาไว้เรื่องความยุติธรรมอย่างชัดเจน ถ้ามีคนอื่นโดนแบบผมมาบ้าง ผมก็พร้อมจะยอมรับ”

นายจตุพร กล่าวถึงการยื่นถวายฎีกากับคดีหมิ่นประมาท โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคำพิพากษากลับศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์สั่งให้จำคุกอีก 12 เดือน

สำหรับคดีหมิ่นประมาทนั้น นายจตุพร กล่าวว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อ 12 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ตนน้อมรับคำสั่งศาล แต่ตนขอเล่าข้อเท็จจริงให้ฟัง เพราะเป็นคดีที่ไม่เคยเกิดกับใครมาก่อนในประเทศไทยหรือแม้กระทั่งในโลก แต่เกิดขึ้นกับนายจตุพร เป็นคนแรก

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทตน 4 คดี 6 เรื่อง แต่เรื่องที่ศาลลงโทษมีอยู่ 2 คดี คดีแรกศาลชั้นต้นยกฟ้อง คดีที่ 2 ศาลลงโทษให้จำคุก 2 ปีและให้นับโทษต่อจากคดีแรก ซึ่งวิธีพิจารณาความอาญา การจะนับโทษต่อก็ต้องมีโทษมาก่อนแล้ว แต่ขณะที่ศาลบอกให้นับโทษต่อตนไม่มีโทษอยู่ข้างหน้า

ต่อมาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ 1 ยกฟ้อง ส่วนคดีที่ 2 ศาลอุทธรณ์ก็ได้สั่งให้นับโทษต่อคดีแรก ทั้งที่ตนไม่มีโทษอยู่ก่อน ต่อมาจากที่ยกมา 2 ศาล ศาลฎีกากลับคำพิพากษาจำคุก 1 ปีในคดีแรก และคดีที่ 2 ลดโทษจาก 2ปี เหลือ 12 เดือน

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ตนได้ศึกษากฎหมายและเรียนรู้เรื่องราวในเรือนจำ ทำให้ตนได้ร้องต่อศาลอาญาว่า ขณะที่ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา ไม่ได้บอกให้นับโทษต่อ เพียงแต่บอกให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์ ซึ่งขณะที่ศาลอุทธรณ์ให้นับโทษต่อนั้น ตนไม่มีโทษอยู่ข้างหน้า สู้จนศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการสั่งให้นับโทษต่อนั้นเป็นการผิดหลง ให้ศาลอาญาแก้หมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ตนใหม่ เป็นการนับวันพิพากษาในคดีที่ 2 หลังตนติดคุกคดีแรก

ทนายความก็ได้ถอนประกันคดีที่สองหลังจากจำคุกไปแล้ว 20 วัน และศาลอาญาก็ได้ออกหมายขังใหม่ หลังตนติดคุกคดีแรกผ่านไป 20 วัน ตนก็ได้ร้องไปใหม่ ว่าต้องนับตั้งแต่วันที่ศาลอาญาออกหมายขังให้ตนในคดีที่2 ซึ่งศาลอาญาก็ได้แก้หมายขังให้ตนเป็นใบที่ 3

หลังศาลฎีกาพิพากษาแล้ว เป็นเรื่องระหว่างศาลอาญา กับกรมราชทัณฑ์ และผู้ต้องขัง เราไม่เคยเห็นโจทก์จะไปฟ้องอะไรกันมาก่อน และระหว่างตนถูกคุมขัง ก็ไม่พบการร้องเรื่องการให้นับโทษใหม่ ปรากฏว่า ศาลได้ออกหมายสั่งปล่อยเมื่อคดีสิ้นสุดตน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ตนได้รับการปล่อยจากหมายศาล แต่เมื่อตนได้รับการปล่อยตัว กลับมานอนบ้านได้เพียงคืนเดียว ก็มีคนร้องให้ตนกลับไปรับโทษใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง จนมาถึงศาลอุทธรณ์ที่ได้นัดอ่านคำสั่งไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา และก็ได้มีคำสั่งให้แก้หมายจำคุกตนใหม่ ให้ไปนับโทษต่อจากคดีแรก

“ผมอยากถามว่า มีใครบ้างในประเทศไทย ศาลพิพากษาออกหมายจำคุกเมื่อคดีสิ้นสุด มีหมายปล่อยตัว ผ่านมา 1 ปี 1 เดือนกับ 8 วัน มาบอกให้เอาไปขังใหม่ บอกขังยังไม่ครบ นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย”

นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคดีของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ตนก็ไม่ได้คัดค้านอะไร เขาได้ปล่อยตัวก็โมทนาสาธุด้วย จากโทษตั้งต้น 85 ปี แต่โทษสูงสุดรับได้ไม่เกิน 20 ปี แต่ติดคุกไป 2 ปี 11 เดือน 21 วัน ด้วยการปรึกษาว่า คุณสมบัติเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ต่างจากตนที่ได้รับการปล่อยตัวจากหมายปล่อยเมื่อคดีสิ้นสุด แต่ทั้งหมดตนก็น้อมรับคำสั่งศาล และมึนงงว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ตั้งแต่มีประเทศไทยมามีใครเจอเหมือนนายจตุพรบ้าง ก็ไม่พบว่ามีใคร

หลังจากวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ก็มึนงงกันทั้งหมดเพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ผมเรียนกับพี่น้องว่า ตนอยู่ท่ามกลางชีวิตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ วันนั้นเข้าใจว่าคงเรียบร้อย ในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ก็ต้องขอบคุณศาลอาญา อย่างน้อยก็เป็นกรณีศึกษาให้ตั้งหลักกันก่อน อนุญาตให้ประกันตัวและตนก็จะได้ใช้สิทธิ์ในการต่อสู้

รวมทั้ง นายจตุพร ยกคดีมาเป็นกรณีศึกษา คือ คดีขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เพราะไม่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ขณะดำรงตำแหน่ง พยายามถอนประกันตนเองทุกสัปดาห์ จนตนถูกคุมขังภายหลังสภายุบเพียง 3 วัน จนต้องเขียนใบสมัคร ส.ส.ในเรือนจำ

ในขณะนั้น กกต.บอกว่ากระทำได้ ในระยะเวลาดังกล่าว ตนพยายามในการประกันตัวตลอด จนกระทั่งวันเลือกตั้ง ตนก็ไม่สามารถออกมาเลือกตั้งได้ แม้ตนจะให้เหตุผลไปแล้วก็ตาม เหตุนี้เองเป็นผลทำให้ ตนถูกตัดสิทธิ์เป็น ส.ส. จากการขาดคุณสมบัติ เพราะไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง จนได้มีการร้องต่อสหภาพรัฐสภาสากล หรือ สหภาพรัฐสภาโลก มีมติให้รัฐสภาไทยคืนสมาชิกภาพให้ตน แต่ก็ไม่ได้รับการกระทำตาม เป็นคดีซึ่งตนก็เป็นคนแรกในประเทศไทย ที่ได้รับคดีเช่นนี้

ส่วนคดีกรณีศึกษาอีกสำนวน เป็นคดีแพ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง เมื่อถึงศาลฎีกา ตนก็ไม่ได้รับหมายให้ไปฟังคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตาม ตนก็น้อมรับคำพิพากษา ที่ให้ตน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากเหตุการณ์ช่วงสลายการชุมนุมปี 2553 เป็นเงิน 19 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยแล้วประมาณ 30 ล้านบาท

“แม้ในคำพิพากษาจะมีข้อความหนึ่งที่จำเลยสองคน พูดเหมือนกัน แต่ยกฟ้องคนหนึ่ง เอาผิดกับอีกคนหนึ่ง นั่นก็คือผม ในฐานะที่ผมเป็นประธาน นปช. ทั้งที่ในข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุ ผมยังไม่ได้เป็นประธาน นปช. แต่ประธาน นปช.ขณะนั้นคือ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ซึ่งไม่ได้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย ตนเป็นประธาน นปช.หลังเกิดเหตุดังกล่าวแล้วกว่า 4 ปี”

ทั้ง 3 คดีล้วนเป็นกรณีศึกษา ที่ตนเล่าให้ฟัง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองเพียงคนแรก คนอื่นจะคิดตัดสินใจอย่างไรก็ได้ แต่ตนอยู่หัวแถว อย่างไรก็ไม่มีสิทธิคิดที่จะหนี แม้แต่เพียงวันเดียว แต่รู้ว่ามันยากเหลือเกิน

นายจตุพร กล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาของประเทศไทย ตนเคยบอกวันที่ออกจากเรือนจำฯแล้วว่า ไม่ได้พกความแค้นเข้าไป และไม่ได้พกความแค้นออกมา อยู่ในเรือนจำ 1 ปี 15 วัน สวดมนต์วันละ 2 ครั้ง แผ่เมตตาวันละ 2 ครั้ง กรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร ไม่เคยขาดแม้แต่เพียงวันเดียว ถ้าไม่ยึดหลักธรรม เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้เลยในเรือนจำ