posttoday

กางแผนมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์

28 สิงหาคม 2562

มั่นใจว่า คนจะมาใช้สิทธิ์มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้อาจจะแตะหลัก 90%ก็ได้

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม 

การเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศถูกแช่แข็งอย่างน้อย 5 ปี ทั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เกือบหมื่นแห่งหมดวาระลงมานาน แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ได้ออกคำสั่งระงับการเลือกตั้งเพราะกลัวเกิดบรรยากาศความขัดแย้งในบ้านเมืองขึ้น

ทว่า หลัง คสช.หมดอำนาจ นำมาสู่การเลือกตั้งใหญ่ ส.ส.วันที่ 24 มี.ค. 2562 ตามโรดแมปจากนี้จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระล็อตมโหฬาร 97,940 ตำแหน่ง ซึ่งเดิมรัฐบาลจะเริ่มให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ได้ก่อนในเดือนต.ค.ปีนี้ แต่ที่สุดต้องเลื่อนไปอีกคาดว่า จะเป็นช่วงไตรมาสแรกปีหน้า จากเหตุผลการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะนำใช้จัดการเลือกตั้งทั้องถิ่นด้วย ต้องเลื่อนการบังคับใช้เป็นปีหน้าไปด้วย

กางแผนมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์

กระนั้น ก็ไม่ช้าเกินไป คาดว่า อีก 6 เดือนจากนี้ หรือ เดือนก.พ. 2563 เป็นต้นไป คนกรุงอาจได้เข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ขณะที่ต่างจังหวัดอาจได้ไปใช้สิทธิ์เลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ทั่วประเทศเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งวันนี้ผู้สมัครบางพรรค ทยอยเปิดตัวประกาศชิงสนามท้องถิ่นกันแล้ว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลภารกิจ ประสานงานการเลือกตั้งท้องถิ่นร่วมกับคณะกรรมการการเลือดกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นถือเป็นครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่นไทย เพราะไม่มีครั้งไหนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 7,852 แห่งทั่วประเทศ ที่ผู้บริหารและสมาชิกสภาหมดวาระพร้อมกัน ทั้ง กทม. เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,332 แห่ง และเทศบาล จึงต้องมีการเลือกตั้ง ทั้งนายกฯ และตัวสมาชิกสภา ปัจจุบันเรามีจำนวนสมาชิกที่ว่าง 142,590 ตำแหน่ง แต่ตามกฎหมายใหม่จะต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวน 97,940 ตำแหน่ง ถ้ารวมผู้สมัครแข่งขันในอัตรา 1 ต่อ 3-4 แล้ว ก็เกือบ 5 แสนคนที่จะลงแข่งกันทั้งประเทศ

กางแผนมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์

ชงเลือก 3 ขยัก เว้น 3 เดือน ผู้ว่าฯกทม.คิวแรก

อธิบดี สถ. กล่าวว่า เท่าที่ทราบ กกต.มีแผนจัดการเลือกตั้งที่ในแต่ละรูปแบบไม่พร้อมกัน โดยตัวแทนของกกต.ชี้แจงกับคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ตอนร่างกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับว่า การเลือกตั้งจะเริ่มจากรูปแบบพิเศษก่อน คือ 1.กทม. เมืองพัทยา อบจ. 2. เทศบาล 3.อบต. แต่ละรูปแบบจะมีระยะเวลาในการเว้นวรรค ประมาณ 3 เดือน ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งประชาชนต้องไปใช้สิทธิ์เลือก 2 ครั้ง คือ อบจ.กับ อบต. เว้นแต่ในกทม.อาจเลือกพร้อมกันทีเดียวระหว่างผู้ว่าฯกทม.กับ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.)

เหตุผลอีกอัน คือ กกต. กังวลเรื่องการสืบสวน สอบสวน ข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้น จะเลือกพร้อมกันทีเดียว 7,852 แห่งไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นคงเป็นมหกรรมหาเสียงที่สับสนอลหม่านเพราะมีหลายรูปแบบ

“ผมเคยตอบท่านมีชัย ตอนที่ผมไปชี้แจงในฐานะกระทรวงมหาดไทย ว่า อยากให้เลือกรูปแบบพิเศษก่อน ตามด้วย อบจ. เทศบาล สุดท้ายคือ อบต. เรียงจากไซส์ใหญ่ไล่ลงไปตามขนาดความเจริญ กกต.ก็มีแนวโน้มที่จะทำแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็เป็นความเห็นไม่เป็นทางการ อยู่ที่ กกต.คุยกับท่านนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบให้กกต.ก็ต้องดูว่าห้วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงไหน”

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง อธิบดีสถ. คาดว่าอยู่ที่ 5,000 กว่าล้านบาท ทั้งค่าจัดการเลือกตั้ง ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ค่าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ค่าฝึกอบรม ค่าเอกสาร ค่าธุรการ ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ที่ 4,000 กว่าล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่รัฐบาลจะจัดสรรให้การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะติดขัดบ้าง เนื่องจากเรามีเลือกตั้ง และมีรัฐบาลในช่วงปลายปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่จะต้องจัดทำปีงบประมาณปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมาเดือนนี้ (ส.ค.) ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว แต่ปัจจุบันยังล่าช้าไม่เสนอเข้าสภา คณะกรรมการที่มีหน้าที่ยกร่างจัดทำคำของบประมาณก็เปลี่ยนหมด กระบวนการก็ไม่ได้เดิน สรุป คือ กระบวนการจัดทำงบประมาณหยุดชะงัก 3-4 เดือน แต่ สถ.ได้ชี้แจงกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าให้เร็วกว่าเดือนต.ค.2562 เพราะช่วงนี้ท้องถิ่นต้องทำข้อบัญญัติงบประมาณเหมือนกัน ถ้าเลือกในช่วงเดือนก.ย. ผู้นำท้องถิ่นจะหยุดทำงานหมด เนื่องจากกฎหมายบังคับห้ามปฏิบัติหน้าที่ 45 วัน

“ตอนนี้เรารอแต่ความชัดเจนระหว่างกกต.กับรัฐบาลที่จะหารือกันว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

กางแผนมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์

มีลุ้นใช้สิทธิ์พุ่ง 90%พรรคใหม่กระตุ้น – คนอยากเปลี่ยน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ น่าจะตื่นตัวมากกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เพราะผู้บริหารท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ ใกล้ชิดกับ ประชาชนมากกว่า ส.ส. ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติก็ใกล้ชิดกว่า คนที่ลงสมัครท้องถื่นก็ต้องเป็นคนท้องถิ่น

ทั้งนี้ สถิติการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา 74.69% ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดอยู่ที่ 78-80% ฉะนั้น ก็มีโอกาสที่ท้องถิ่นจะตื่นตัวมากกว่า และครั้งนี้ปัจจัยที่น่าจะใช้สิทธิ์มากกว่าเดิมคือ 1.คนหนุ่มสาวตื่นตัว 2. พรรคการเมืองประกาศตัวชัดเจนที่จะส่งตัวแทนสมัครท้องถิ่น 3.ผู้บริหารท้องถิ่น ชุดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็อยู่ไม่ต่ำกว่า 5-7 ปี เพราะคสช.อยู่ในตำแหน่งมา 5 ปี การอยู่นานก็ใกล้ชิดกับประชาชน ก็มีทั้งคนชอบไม่ชอบ คนไม่ชอบก็อยากจะเปลี่ยน จึงมั่นใจว่า คนจะมาใช้สิทธิ์มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้อาจจะแตะหลัก 90%ก็ได้

“พฤติกรรมการการเลือกตั้งในอดีต คนที่ไม่ค่อยไปใช้สิทธิ์ คือ คนที่มีความรู้ กับ วัยรุ่น แต่การเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมา กลับมีคนหนุ่มสาวเยอะขึ้น ดังนั้น การที่มีพรรคการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะครั้งนี้ มีพรรคใหม่ขวัญใจวัยรุ่น ประกาศลงเล่นการเมืองท้องถิ่นด้วย ก็มีผลให้คนที่มีความรู้ในโลกโซเชียลตื่นตัว ก็เป็นการดี ที่คนจะมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง”

เมื่อถามถึง ความคาดหวังที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่สุดของประเทศ อธิบดี สถ. กล่าวว่า เราต้องเคารพผู้มาใช้สิทธิ์ก่อน แต่หลักๆ คือ คนที่อยู่ในตำแหน่งจะได้มีโอกาสทบทวนการทำงานจากเสียงสะท้อนของประชาชนว่า คะแนนตัวเองลดเพิ่มอย่างไร ถ้าประชาชน เลือกผิดก็ต้องทนอยู่กับมันอีก 4 ปี เป็นอย่างมาก จากนั้นก็มาใช้พลังตัวเองเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น ผู้นำ นโยบาย นี่ คือ ความสวยงามของประชาธิปไตย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเมืองท้องถิ่น ไม่ได้เปิดโอกาสเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่กระบวนการทำงานของสภาท้องถิ่น ต้องยึดโยงอยู่กับเสียงประชาชน เช่น แต่ละปีจะทำแผนพัฒนาอะไร คุณต้องมีประชาคม มีการประชุมเพื่อให้แต่ละพื้นที่ เสนอปัญหาความต้องการ และให้ความเห็นชอบด้วย ไม่เหมือนการเมืองระดับชาติ สรุป คือ ท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกำหนดทิศทางพัฒนา แก้ไขปัญหา ดูแลท้องถิ่นของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำ ถ้าทำอะไรที่ไม่อยู่ในแผน ผู้บริหารท้องถิ่นคนนั้นก็อาจถูกปลดจาก ป.ป.ช.แน่ ในอนาคต ถ้าการบริหารท้องถิ่นยกระดับ ก็จะเหมือนต่างประเทศที่นักการเมืองท้องถิ่นโตขึ้นมาเป็นนักการเมืองระดับชาติ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยยังไม่เป็น

กางแผนมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์

โรดแมปสู่รัฐบาลกลาง เงินต้องมา- รายได้ต้องมี

อธิบดี สถ. กล่าวถึงปัญหาท้องถิ่นในปัจจุบันว่า ยังมีรายได้ไม่พอเลี้ยงตัว ทั้งที่ โครงสร้างกำหนดให้ท้องถิ่นมีรายได้เป็นของตัวเอง แต่ก็ยังไม่เป็นการทั่วไป เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ถูกแยกเป็นของรัฐบาลกลาง ขณะที่ท้องถิ่นมีโอกาสจัดเก็บรายได้เพียงนิดเดียว ในสัดส่วน 10:90 แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะประเทศเรา รัฐบาลกลางยังต้องทำงานให้ท้องถิ่นจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล ถนนคุณภาพดี รถไฟรางคู่ มหาวิทยาลัย หรือ การป้องกันประเทศ

“การถ่ายโอนงาน ปี 2542 เราถ่ายโอนเงิน ถ่ายงานจากกรมทางหลวง เป็นถนนท้องถิ่นระยะทางมากกว่า 4 แสนกิโลเมตร ตอนนี้ท้องถิ่นรับผิดชอบถนนอยู่ประมาณ 4-5 แสนกม. แต่ก็ยังมี 3 แสนกิโลเมตร ที่เป็นลูกรังอยู่ หมายความว่า ท้องถิ่นได้งานไปก็จริง แต่เงินกลับไม่ตามมา”

ความจำเป็นอีกอย่างคือ เราเป็นท้องถิ่นเต็มพื้นที่ โดย 80% ของพื้นที่ ยังมีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ท้องถิ่น 80% ของอปท. เป็นสังคมเกษตรที่มีแหล่งกำเนิดรายได้น้อย ก็จำเป็นที่รัฐบาลต้องช่วย กระจาย เม็ดเงินจากชุมชนเมืองใหญ่ไปให้ท้องถิ่นขนาดเล็ก มิฉะนั้น มันก็ตัวใครตัวมัน ท้องถิ่นขนาดเล็กก็จะล่มสลาย ส่งผลต่อการล้มเหลวในการดูแลประชาชน

อธิบดี สถ.กล่าวว่า ปัจจุบัน อปท. 7,800 กว่าแห่งบริหารงบประมาณเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท ถือว่า ไม่มาก เพราะในจำนวนนี้เป็นงบสวัสดิการเป็นส่วนใหญ่มากกว่า 90% เช่น ผู้สูงอายุ ค่าอาหารกลางวัน นมเด็ก ภารกิจท้องถิ่นก็เหมือนดูแลประชาชนตามที่รัฐบาลกลางกระจายให้ ทั้งการศึกษาในเด็กปฐมวัย งานสังคม งานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การป้องกันสาธารณภัยต่างๆ การป้องกันโรคระบาด การดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่ มีงบลงทุนในท้องถิ่นเหลือเพียง 6-7 % เมื่อมีงบประมาณน้อย จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนรู้สึกว่า พัฒนาได้ช้า ทั้งที่ตามหลักการ งบลงทุนกับงบประจำ ควรเป็นครึ่งๆ ด้วยซ้ำ

“เราพยายามขับเคลื่อนให้ท้องถิ่นในไทย เป็นรัฐบาลกลาง หรือ รัฐบาลของท้องถิ่นที่บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไปไม่ถึงเพราะโครงสร้างการปกครองของประเทศเรา รัฐบาลกลางกับภูมิภาค มันยังเข้มแข็งอยู่ เพราะประเทศเรายังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก ฉะนั้นหากปล่อยให้ท้องถิ่นเราสมบูรณ์แบบยุโรป ตะวันตก ท้องถิ่นก็จะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ก็จำเป็นที่รัฐบาลกลางต้องกระจายความเจริญให้ท้องถิ่นไปจัดบริการให้ประชาชนอย่างทั่วถึง” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

กางแผนมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์

กางแผนมหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์