posttoday

ศาลเลื่อนอ่านฎีกาคดีแกนนำนปช.ชุมนุมล้อมบ้านป๋าเปรม

31 กรกฎาคม 2562

ศาลเลื่อนอ่านฎีกาคดีแกนนำนปช.ชุมนุมล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์เหตุ“วีระกานต์”ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง23ก.ย.62

ศาลเลื่อนอ่านฎีกาคดีแกนนำนปช.ชุมนุมล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์เหตุ“วีระกานต์”ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง23ก.ย.62

ที่ห้องพิจารณา 701ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 11.00 น. ศาลได้มีคำสั่งเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550หมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพรุจหรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 , นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา , นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ , ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง , 215 , 216 , 297 , 298ประกอบมาตรา 33 , 83 , 91

กรณีสืบเนื่องจากวันที่ 22 ก.ค. 50 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ. ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส

วันนี้ "นายนพรุจ" อดีตแกนนำพิราบขาวฯ จำเลยที่ 1 , "นายณัฐวุฒิ" จำเลยที่ 5 , "นายวิภูแถลง" จำเลยที่ 6 , "นพ.เหวง" จำเลยที่ 7 เดินทางมาศาล โดยมี แกนนำ นปช. หลายคน เดินทางมาให้กำลังใจด้วยทั้ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. , นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ภรรยา นพ.เหวง และอดีตประธาน นปช. , นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก รวมทั้งแนวร่วม นปช.อีกกว่า 30-40 คน

ส่วน "นายวีระกานต์" จำเลยที่ 4ไม่ได้มาศาล คงมีเพียงทนายความ มายื่นคำร้องขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาฎีกาออกไปก่อน เนื่องจาก "นายวีระกานต์" จำเลยที่ 4 มีอาการป่วยเวียนศีรษะ เดินเซ ปัสสาวะไม่ออก โดยแพทย์ให้พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ลาดพร้าว ตั้งแต่วันที่ 30ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนำใบรับรองแพทย์ส่งศาลด้วย ขณะที่ศาล ได้ตรวจสำนวนแล้ว ทราบจากรายงานของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 23 ก.ค.และวันนี้ว่า ส่งหมายแจ้งวันฟังคำพิพากษาฎีกาให้นายวีระกานต์ จำเลยที่ 4 และนายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 5 ไม่ได้แต่วันนี้จำเลยที่ 5 มาศาลถือว่าทราบนัดแล้ว ส่วนจำเลยที่ 4 ยังไม่ได้รับหมายไม่ทราบนัด แต่วันนี้ทนายความจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอเลื่อนประกอบใบรับรองแพทย์มา กรณีมีเหตุให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน โดยนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้ง ในวันที่ 23ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. โดยกำชับให้นายประกันของจำเลยที่ 1,ที่ 4-7 พาตัวจำเลยทั้งห้าคน ตามวันนัดดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ก่อนเข้าห้องพิจารณาเพื่อฟังคำพิพากษา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. จำเลยที่ 5 กล่าวว่า ตนเองไม่ได้กังวลใจ เพราะว่าทุกคดีที่ถูกกล่าวหาในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ได้สู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด แต่คำพิพากษาของศาลจะเป็นอย่างไร เราก็พร้อมที่จะน้อมรับและให้ความเคารพจึงไม่มีความวิตกกังวลใดๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ต่อสู้และพิสูจน์กันตามกระบวนการ ซึ่งเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจในการต่อสู้คดีและเชื่อมั่นในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคืนวันดังกล่าว โดยเป็นความเชื่อมั่นของคนที่ตกเป็นจำเลย ส่วนเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาจะออกมาอย่างไรก็เคารพ

“จนถึงวินาทีนี้ยังถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกา เพราะฉะนั้นผมคงไม่คิดอะไรไปก่อนล่วงหน้า นอกจากแสดงความเชื่อมั่นและบริสุทธิ์ใจว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาเรายืนยันหลักการสันติวิธี แล้วจุดมุ่งหมายเดียวในการต่อสู้คือเพื่อผลักดันให้สังคมไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อบริสุทธิ์ใจอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวล” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นข้อต่อสู้ที่ยื่นต่อศาลฎีกา นั้น เราว่าไม่ได้บุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านสี่เสาเทเวศร์เป็นการไปใช้สิทธิ์ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเหตุการณ์วุ่นวายเผชิญห้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนผู้ชุมนุม นปช.เกิดขึ้นเพราะว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังใช้แก๊สน้ำตาเข้ามาพยายามสลายการชุมนุม ทั้งที่พวกผมไปที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ได้พูดคุยหารือและทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นหัวหน้าชุดควบคุมสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่าภายในเวลาไม่เกินเที่ยงคืนของวันเกิดเหตุการณ์ พวกผมก็จะกลับไปชุมนุมที่ท้องสนามหลวงตามปกติ ซึ่งก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลฎีกา ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล

เมื่อถามว่าในชั้นฎีกาได้ยื่นหลักฐานอะไรเพิ่มเติมให้ศาลพิจารณาบ้าง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ก็ได้นำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกา โดยทีมกฎหมายก็ได้นำคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มาศึกษากันโดยละเอียด ก่อนจะยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณา ตอนนี้ก็รอฟังคำพิพากษาของศาลว่าท่านจะวินิจฉัยแต่ละประเด็นอย่างไร ส่วนวันนี้จำเลยทุกคนจะมาครบหรือไม่นั้น ก็ยังไม่ได้สอบถามกัน แต่ทราบว่าหลายคนก็เดินทางมาถึงศาลแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้วถ้าหากต้องคำพิพากษาจำคุกให้เข้าเรือนจำ ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้อย่างไรบ้าง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตั้งแต่วินาทีที่ออกมาต่อสู้และต่อต้านการรัฐประหารก็ต้องพร้อมสำหรับการสูญสิ้นอิสรภาพ คิดว่าถ้าวันนี้จะต้องไร้อิสรภาพอีกครั้งอย่างน้อยที่สุด ก็มีคนที่เสียสละสูญเสียมากกว่า คือคนที่บาดเจ็บล้มตาย ไปในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งก็มีพี่น้องประชาชนที่ร่วมขบวนการได้ส่งกำลังใจมาให้ ถ้าวันนี้ได้กลับบ้านก็ยืนยันหลักการต่อสู้เดิม หรือถ้าไม่ได้กลับบ้านก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่ต่อสู้กันมา

ด้านนายแพทย์เหวง จำเลยที่ 7 กล่าวว่า จำเลยทุกคนทราบแล้วว่าศาลนัดฟังคำพิพากษา ส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ไม่ว่าจะพิพากษาว่าอย่างไร หากต้องเข้าเรือนจำก็ไม่มีปัญหาอะไร

ขณะที่นายจตุพร ที่มาพร้อมกับนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาให้กำลังใจ ซึ่งคดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ของตนเองนั้น แยกเป็นอีกสำนวนคดีหนึ่ง คงรอให้คำพิพากษาในคดีนี้ผ่านพ้นไปก่อน คดีบุกบ้านสาเสาเทเวศร์ เดิมมีจำเลยทั้งหมด 15 คน แต่อัยการได้ทำสวนยื่นฟ้องคดีมาก่อน 7 คน ส่วนสำนวนคดีชุดหลังมีจำเลยทั้งหมด 8 คน ซึ่งตนเองกับประชาชนอีกคนถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้น

“เส้นทางของพวกเรามี 2ทางเท่านั้น ไม่ตายก็ติดคุก เพราะฉะนั้นก็มาให้กำลังใจกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร เราเป็นพี่น้องที่อยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วพวกเราคล้ายๆกัน คือ ยกชีวิตและอิสรภาพทั้งหมดให้กับการต่อสู้ ซึ่งเราน้อมรับคำตัดสินของศาลมาโดยตลอดอยู่แล้ว ส่วนการต่อสู้คดีของตนเองก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วแต่ดุลยพินิจของศาล

ขณะที่ นายนพรุจ จำเลยที่ 1ให้สัมภาษณ์ พร้อมมีหนังสือขอความเป็นธรรมให้กับสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า ตนรู้สึกหนักใจคดีนี้มาก จึงขอความเป็นธรรมจากพี่น้องสื่อมวลชน ตนเองยืนยันและสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในคืนที่เกิดเหตุ เพราะตนเองยึดมั่นในแนวทางการต่อสู้สันติวิธี อหิงสา ตนเองไม่เคยทำร้ายใคร แต่ถ้าหากศาลตัดสินว่าอย่างไรก็สุดแล้วแต่ท่าน ตนเองถือว่า คงเป็นกรรมในอดีตชาติที่ตนเองเคยทำไว้ แม้วันนี้ตนเองจะต้องเดินเข้าเรือนจำ ก็จะขอไปทำหน้าที่จิตอาสาในเรือนจำในฐานะนักโทษจิตอาสา แต่ตนได้ยื่นขอความเป็นธรรมต่อศาลฎีกาไว้ว่า ใบรับรองแพทย์ของตำรวจที่อ้างว่าถูกตนเองทำร้าย ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น มีข้อพิรุธเป็นประเด็นในการต่อสู้คดี ซึ่งตนเองถูกดำเนินคดีหลายคดีและคดีนี้เป็นคดีสุดท้ายแล้ว

นายนพรุจ กล่าวอีกว่า ตนต่อสู้เรื่องไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ เพราะว่ามีใบรับรองแพทย์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เสียหาย ที่เราไม่ได้นำมาสืบในศาลชั้นต้น โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้บาดเจ็บสาหัส ซึ่งวันเกิดเหตุวันที่ 22 ก.ค.2549นั้นตนเองอยู่บนหลังคารถ หากตำรวจได้รับบาดเจ็บก็น่าจะเป็นอุบัติเหตุ และตนเองเป็นฝ่ายที่ถูกกระทืบมากกว่า โดยตนเองถูกกระชากลงมาจากหลังคารถแล้วก็ถูกทำร้าย ซึ่งได้แจ้งความไว้แล้วด้วย ยืนยันว่าเราต่อสู้ด้วยสันติวิธี ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดจากการต่อสู้ที่พี่น้องทำกันเองตนไม่รู้เรื่องด้วย

สำหรับคดีนี้ "ศาลชั้นต้น"มีคำพิพากษาวันที่ 16ก.ย.58 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์ , นายณัฐวุฒิ , นายวิภูแถลง , นพ.เหวง 4 แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4-7 จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ และให้ยกฟ้อง นายวีระศักดิ์ กับ นายวันชัย จำเลยที่ 2-3

ต่อมา นายนพรุจ อดีตแกนนำพิราบขาว จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ต่อสู้ว่าไม่อยู่ในวันที่เกิดเหตุ ส่วน " 4 แกนนำ นปช" จำเลยที่ 4 -7ยื่นอุทธรณ์ ต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวและเป็นการกระทำลักษณะเพื่อปกป้องการถูกคุกคาม ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในการลงโทษ ส่วน "นายวีระศักดิ์ กับนายวันชัย" จำเลยที่ 2-3 ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น อัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงยุติไป

ขณะที่คดีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.60 ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ "4แกนนำ นปช." จำเลยที่ 4-7อุทธรณ์ต่อสู้ว่าการกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น ฟังขึ้นบางส่วน เนื่องจากการชุมนุมของจำเลยมีเจตนาเดียวเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย และความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานนั้น ก็รับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ตัวการร่วม

"ศาลอุทธรณ์" จึงพิพากษาแก้เป็นว่า "4แกนนำ นปช." จำเลยที่ 4-7 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215วรรคหนึ่งและวรรคสาม , มาตรา 216ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม ให้จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนของ "นายนพรุจ" อดีตแกนนำพิราบขาว จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือนโดยจำเลยทั้ง 5 คน ได้ยื่นฎีกาสู้คดี และยื่นประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวคนละ 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขเดิม คือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต

ส่วนคดี ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้อง "นายจตุพร พรหมพันธ์" ประธาน นปช. และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ร่วมชุมนุม เป็นจำเลยที่ 1-2 ในคดีหมายเลขดำ อ.2799/2557เมื่อวันที่ 29 ส.ค.57ในความผิดฐานเดียวกันจากเหตุการณ์เดียวกันนั้น ทั้งสองให้การปฏิเสธ ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าว ศาลอาญามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคำพิพากษาคดีถึงที่สุดสำนวนแรก เพื่อมาประกอบการพิจารณาตามที่จำเลยร้องขอ โดยการยื่นฟ้องที่แยกสำนวนของนายจตุพรนั้นได้เกิดขึ้นหลังจากที่นายจตุพร พ้นจากเอกสิทธิ์คุ้มครองของความเป็น ส.ส.แล้ว ขณะที่ระหว่างนั้นคดีสำนวนแรกสืบพยานไปเกือบเสร็จสิ้นแล้ว และอัยการโจทก์รอตัวผู้ต้องหาจะฟ้องเพิ่มอีก จึงไม่ได้รวมพิจารณาคดีไปพร้อมกันกับสำนวนแรกกลุ่มนายวีระกานต์

อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ มีผู้ต้องหาที่อัยการสั่งฟ้องทั้งหมด 15 ราย โดยอัยการยื่นฟ้องนายวีระกานต์ อดีตประธาน นปช. , นายณัฐวุฒิ , นายวิภูแถลง , นพ.เหวง 4แกนนำ นปช. กับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุม รวม 7 คนไปก่อน ซึ่งยังมีผู้ต้องหาอีก 4 ราย ที่อัยการรอตัวยื่นฟ้อง ประกอบด้วย นายจรัล ดิษฐาอภิชัย , นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ , นายบรรธง สมคำ และ ม.ล.วีระยุทธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หรือนายวิชิต เพียโคตร

ส่วน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ต้องหาร่วมได้เสียชีวิตแล้ว และนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาร่วมอีกรายขณะนี้ได้หลบหนีไปต่างประเทศจึงยังไม่ได้ดำเนินคดี