posttoday

"ประชาธิปัตย์"ชูนโยบาย "ประกันค่าแรง" ได้ประโยชน์ทั้งลูกจ้าง-นายจ้าง

14 กรกฎาคม 2562

กรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ชู "นโยบายการประกันค่าแรง" ชี้ช่วยประคองนายจ้าง และเพิ่มรายได้ลูกจ้าง ย้ำแตกต่างอย่างมโหฬารกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

กรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ชู "นโยบายการประกันค่าแรง" ชี้ช่วยประคองนายจ้าง และเพิ่มรายได้ลูกจ้าง ย้ำแตกต่างอย่างมโหฬารกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 62 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นถึงนโยบายของพรรคที่เสนอให้ "ประกันรายได้แรงงาน" โดยมีเนื้อหาดังนี้

ปชป.หาเสียง “ประกันรายได้แรงงาน” ไม่ได้หาเสียง “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400” ความคล้ายที่แตกต่างมโหฬาร!

ล่าสุดเดือนนี้ ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2562 ลงจาก 3.8 เหลือ 3.5 และพระเอกคือ “การส่งออก” สำคัญหดเหลือร้อยละ 4 แปลว่า เศรษฐกิจไทยชลอตัวลง แต่รัฐบาลจะเอาง่ายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำงั้นหรือ นึกถึงนายจ้างรายเล็กรายน้อยด้วย ไม่งั้นจะเกิดการปิดตัวลงของ SME ร้านอาหาร ร้านค้าเล็กๆ อีกมาก

ประชาธิปัตย์เคยเสนอประกันค่าแรง ไม่ให้ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี หากหักวันหยุดแล้วก็จะเท่ากับค่าแรงวันละ 400 บาทคล้ายกับที่รัฐบาลเสนอ

แต่ที่ต่างมโหฬารคือ นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ “ไม่ใช่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ผลักภาระทั้งหมดให้นายจ้าง แต่เป็นการ “ประกันค่าแรง” หากพื้นที่ไหนได้ค่าแรงไม่ถึง 400 บาท รัฐจะชดเชยส่วนต่างให้จนครบ โดยไม่ต้องเป็นภาระนายจ้าง คล้ายกับกรณีศึกษาเทียบเคียง Workfare ของสิงคโปร์ ที่รัฐชดเชย โดยการจ่ายเงินให้ในรายจ่ายสำคัญๆ ของลูกจ้าง

เราสามารถจ่ายเงินส่วนต่างค่าแรงในรายการ เช่น การศึกษาเพื่อเพิ่มความสามารถของตนเองหรือบุตร การรักษาพยาบาล ชำระหนี้สิน ให้เป็นเงินออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และอื่นๆที่จำเป็น วิธีนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพแรงงานไปในตัว แถมเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้เฉพาะคนสัญชาติไทยเท่านั้น

วิธีนี้จะช่วยประคองนายจ้าง SME รายเล็กให้อยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจขาลง และขณะเดียวกันลูกจ้างก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยตามเป้าหมายของรัฐบาล