posttoday

ม.รังสิต เปิดตัว “ดัชนีความเหลื่อมล้ำดิจิทัล” ชี้ 5 จว.กลุ่มวัยชรา เด็ก คนจนเข้าถึงดิจิทัลต่ำ

08 กรกฎาคม 2562

เสนอแนะรัฐบาลอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำเผย สกลนคร นราธิวาส หนองคาย เลย แม่ฮ่องสอน เข้าถึงดิจิทัลต่ำสุด

เสนอแนะรัฐบาลอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำเผย สกลนคร นราธิวาส หนองคาย เลย แม่ฮ่องสอน เข้าถึงดิจิทัลต่ำสุด

8 ก.ค.62 ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แถลง “ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลของประเทศไทย” ครั้งที่หนึ่ง ว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน จากอินเทอเน็ต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อาทิ แท็บเล็ต ไอแพด หรือ สมาร์ทโฟน เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และ ไลฟสไตล์ของคนเปลี่ยนไป อาทิ ด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน การค้าขายออนไลน์ หรือการติดต่อสื่อสาร แต่หากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีย่อมจะทำให้ขาดโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิต เพราะเทคโนโลยีจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และ สร้างโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐบาลควรตระหนักถึงความสำคัญของดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล เพื่อนำไปประกอบเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศหรือนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัล ในภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 23.39 คะแนน ในปี 2556 เป็น 32.9 คะแนนในปี 2560 จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่ชีวิตดิจิทัลของคนไทยโดยเฉลี่ยยังคะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน พิจารณาจากรูปแบบพฤติกรรมชีวิตดิจิทัลด้านต่างๆ พบว่าคนไทยใช้อินเทอเน็ตและด้านการสื่อสารแบบเวลาจริงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พฤติกรรมชีวิตดิจิทัลด้านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กลับลดลงอย่างมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่เน้นใช้สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ท ซึ่งสะดวกและตอบโจทย์ไลฟสไตล์ ของคนทั่วไปมากกว่าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ และโน๊ตบุ๊คแบบพกพา ซึ่งมักใช้กันในแวดวงการศึกษาและการทำงาน

จากการวิจัยพบว่าในระดับภูมิภาค คนกรุงเทพฯครองอันดับหนึ่ง ด้านชีวิตดิจิทัลมากที่สุด อันดับที่ 2 คือ คนภาคกลาง เป็นที่น่าสังเกตว่าคนภาคใต้มีพัฒนาการด้านชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าคนภาคเหนือ ในขณะที่คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยต่ำที่สุดอย่างต่อเนื่อง สำหรับในระดับจังหวัด คนกรุงเทพฯ อยู่อันดับหนึ่งมาโดยตลอด โดยมีคนปทุมธานี ภูเก็ต และ นนทบุรีครองอันดับสอง สาม และ สี่ตามลำดับ ในขณะที่คนแม่ฮ่องสอนได้คะแนนชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศติดต่อกันมาในอดีต แต่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้ในปี 2560 คนแม่ฮ่องสอนอันดับดีขึ้น ขณะที่ คนสกลนคร นราธิวาส หนองคาย และ เลย อันดับชีวิตดิจิทัลเฉลี่ยต่ำที่สุด

ผศ.ดร.เทอดศักดิ์ กล่าวว่ารัฐบาลควรสนับสนุนส่งเสริม หรือให้การฝึกอบรมแก่ประชาชนในจังหวัดที่ขาดความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัล ตัวอย่างเช่น พบว่าผู้มีรายได้น้อยที่มี บัตรประชารัฐจำนวนหนึ่งกดหรือรูดเงินผ่านตู้เอทีเอ็มไม่ได้ จำเป็นต้องจ้างคนอื่นให้ไปรูดบัตรประชารัฐ ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญในการวางโครงข่ายการสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศ ในจังหวัดที่ประชากรเข้าถึงเทคโนโลยีน้อยอยู่ อาทิ สกลนคร นราธิวาส หนองคาย เลย และ แม่ฮ่องสอน

สำหรับกลุ่มประชากรที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิตดิจิทัลต่ำ มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และ คนยากคนจนในชนบท แม้บางคนมีความรู้แต่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการเข้าถึง หรือ ใช้อินเทอเน็ต โดยเฉพาะเด็กเรียนดีแต่ขาดโอกาสในการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี

รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษศาสตร์ กล่าวว่าเพื่อการเท่าทันเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงไปของโลกทางมหาวิทยาลัย เตรียมการเรียนการสอนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้น 3 ส่วนสำคัญ คือ Block chain Big Data และ Fin Techเนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ตรงกลางสงครามทางการเงินระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน โดยสหรัฐฯต้องการครอบครองความเป็นเจ้าโลกด้านการเงินดิจิทัล จึงเปิดตัว Libra ที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการผ่าน Facebook ที่มีเครือข่ายผู้ใช้อยู่ประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลก โดยสกุลเงินใหม่ที่ซื้อขายบนโซเซียลมิเดียจะสามารถอ้างอิงกับสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศสมาชิกได้ ขณะนี้มี 27 องค์กรระดับโลกเข้าร่วม อาทิ ebay , VISA , UBER , Master Card ฯลฯล้วนไม่ใช่สถาบันการเงิน และ เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มี “เงินสกุลหยวน” ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลูกจ้างในระบบสถาบันการเงินถูกออกจากงานและปิดสาขานับพันแห่งในประเทศไทย จึงเกิดคำถามว่าเมื่อเกิดปัญหาคนตกงานจำนวนมาก สังคมและเศรษฐกิจจะดำรงอยู่ได้อย่างไร เพราะนี่คือการปฏิวัติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เคยเกิดการปฎิวัติเศรษฐกิจมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ปฏิวัติเครื่องจักรไอน้ำ ปฏิวัติเครื่องจักรน้ำมัน ปฏิวัติเครื่องจักรไฟฟ้า และ ครั้งที่ 4 คือ การปฎิวัติดิจิทัล

รศ.ณรงค์ กล่าวว่าการปฏิวัติเศรษฐกิจแต่ละยุคย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เปรียบได้กับการที่มารดาต้องคลอดบุตร การจะได้มาซึ่งบุตรอันเป็นที่รัก ต้องแลกด้วยความเจ็บปวดทรมานจากการเบ่งท้องคลอดโดยธรรมชาติ เช่นเดียวกับการเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจดิจิทัลย่อมทำให้คนรุ่นเก่าในสังคมที่เปรียบเสมือนมารดาต้องเจ็บปวดทรมาน เหมือนกับที่สังคมไทยจะต้องปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ดั่งเช่นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ชาวนาชาวไร่ตกงานไร้ที่ดินทำกินจำต้องไปทำงานในโรงงาน ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ถึงจะปรับตัวได้ เช่นเดียวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น แม้เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและปรับตัว เพราะเป็นความก้าวหน้าของโลก สิ่งที่ตามมา คือ การตั้งรับและปรับตัว จะทำอย่างไรให้คนรุ่นเดิมกับคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลอยู่ร่วมกันได้ เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด หรือ คนที่ได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต้องยอมเสียสละบ้างหรือไม่ เพื่อให้กลุ่มคนที่ต้องสูญเสียหรือช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้บ้าง ตัวอย่างเช่น ทีวีดิจิทัล 7 ช่องปิดตัว หนังสือพิมพ์หลายฉบับปิดสำนักพิมพ์ หรือ ธนาคารหลายแห่งยุบสาขาพร้อมกับปลดพนักงาน

“สิ่งสำคัญที่อยากฝากรัฐบาล คือ ถ้าลูกจ้างตกงานจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพราะการบริโภค ที่สร้างรายได้ครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพี ถ้าลูกจ้างตกงานย่อมไม่มีกำลังซื้อ เมื่อคนไม่มีเงินในกระเป๋า เศรษฐกิจจะไปต่อได้อย่างไร ยิ่งการปฏิวัติเงินดิจิทัลของ Libra ที่จะเกิดขึ้นในปี 2563จะทำให้คนตกงานอีกมากมาย ดังนั้นในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะอาการหนักแน่นอนจากปัญหาคนตกงานจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือ Disruptive” รศ.ณรงค์ กล่าว