posttoday

เปิด 6 รายชื่อผู้พิพากษา ลงชิงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

06 กรกฎาคม 2562

"โฆษกศาล" เปิด 6 รายชื่อผู้พิพากษา ลงสมัคร เลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รอ กก.กลั่นกรองประวัติ ก่อนเสนอชื่อที่ประชุมใหญ่ฎีกาเคาะ 3 คน 1 ส.ค. "อดีต รองปธ.ฎีกา-องค์คณะคดีจำนำข้าว-สลายม็อบ พธม." ร่วมเสนอตัวเลือกด้วย

"โฆษกศาล" เปิด 6 รายชื่อผู้พิพากษา ลงสมัคร เลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รอ กก.กลั่นกรองประวัติ ก่อนเสนอชื่อที่ประชุมใหญ่ฎีกาเคาะ 3 คน 1 ส.ค. "อดีต รองปธ.ฎีกา-องค์คณะคดีจำนำข้าว-สลายม็อบ พธม." ร่วมเสนอตัวเลือกด้วย

ภายหลังสิ้นสุดวันรับสมัครผู้พิพากษาศาลฎีการะดับหัวหน้าคณะขึ้นไป เพื่อคัดเลือก 3 คนไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่5 ก.ค. เวลา 16.30 น. ตามที่รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 200 บัญญัติไว้นั้น

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ศาลฎีกาได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คน โดยผู้สมัครต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 200 (1) ซึ่งได้ปิดรับสมัครในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.นี้ เวลา 16.30 น. ก็มีผู้สมัครทั้งสิ้น 6 คน รายชื่อดังนี้

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา , นายทวีป ตันสวัสดิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา , นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา , นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา , นายปริญญา ดีผดุง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา , นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ไป "คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม" จะส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการกลั่นกรองตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามและความเหมาะสมของผู้สมัคร ภายหลังจากนั้นคณะกรรมการฯ จะส่งสำเนารายงานการตรวจสอบ ให้ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่มีอำนาจหน้าที่เข้าประชุมและลงมติในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก่อนวันประชุมใหญ่ศาลฎีกาอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งกำหนดประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 1 ส.ค.นี้

ซึ่งการตัดเลือกนั้น ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 คนแรก และมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่มีอำนาจหน้าที่เข้าประชุมและลงมติในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา (ปัจจุบันมีผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวน 176 คน) ถือเป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาจะได้เสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไปยังวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 12 วรรคแปด ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยการกำหนดนัดประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อลงมติเลืิอกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 1 ส.ค.นี้นั้น จะเริ่มในเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา ชั้น 3 อาคารศาลฎีกา สนามหลวง

สำหรับผู้พิพากษาที่เสนอตัวลงร่วมการคัดเลือกไปดำรงตำตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของ นายทวีป ตันสวัสดิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกานั้นเคยดำรงตำแหน่งอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 (อีสาน) ด้วย และยังเคยลงสมัครรับเลือก เป็น กกต.จากสายศาลเมื่อปีที่ผ่านมาด้วย)

ขณะที่ นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา นั้นเคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา , ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา และอดีตองค์คณะที่ร่วมพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าว-ระบายข้าว)

นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ก็เคยเป็นเลขานุการศาลฎีกา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

นายปริญญา ดีผดุง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เคยดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีทรัพย์สินและการค้าระหว่างประเทศ และอดีตองค์คณะเสียงข้างน้อยคดีสลายม็อบ พธม.ปี 51 ที่เห็นแย้งว่ากระบวนการขั้นตอนสลายม็อบด้วยการยิงแก๊สน้ำตานั้นมิชอบ

และ นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา อดีตเคยเป็นองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดีสำคัญ เช่น อุทธรณ์คดีสลายม็อบ พธม.ปี 51 - เป็นเจ้าของสำนวนคดีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จที่ ป.ป.ช.ชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ , อดีตคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.ซึ่งเคยเป็นข่าวโด่งดังเมื่อมีผู้พิิพากษาเข้าชื่อให้พ้นจากตำแหน่ง ก.ต.เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย

ทั้งนี้สำหรับการคัดเลือกดังกล่าวนั้น ก็มี “ระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562” กำหนดรายละเอียดขั้นตอนไว้ในสาระสำคัญ เช่น ข้อ 9 การประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อลงคะแนนหรือผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้พิพากษาเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่มีอำนาจหน้าที่เข้าประชุมและลงมติในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จึงถือเป็นองค์ประชุม

ข้อ 10 การเลือกให้กระทำโดยเปิดเผย ด้วยการทำเครื่องหมายกากบาท (X) อย่างชัดเจน ลงหน้าชื่อ-สกุลของผู้ที่จะเลือกจำนวนไม่เกิน 3 คนหรือจำนวนเท่าที่ยังขาดอยู่ในบัตรเลือก ซึ่งบัตรจะระบุชื่อ-สกุล , ลำดับหมายเลขของผู้ลงคะแนนตามบัญชีอาวุโสในศาลฎีกา โดยให้นำบัตรเลือก ใส่ลงในหีบบัตรเลือกเพื่อนับคะแนน

ข้อ 11 การลงคะแนนเลือก “ผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” นั้น ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 คนแรก ที่มีคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามเกณฑ์นั้น หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวน (3คน) ที่จะต้องคัดเลือก ก็ให้มีการลงคะแนน อีกครั้งหนึ่ง

ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังแล้ว ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องคัดเลือกนั้น ก็ให้ดำเนินการคัดเลือกใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

และกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเท่ากันในลำดับใด ที่จะทำให้มีผู้ได้รับคัดเลือกเกิน 3 คนก็ให้มีการลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่งสำหรับผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน หากส่วนนี้ลงคะแนนแล้วยังมีผู้ได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งเท่ากันอีก ก็ให้ “รองประธานศาลฎีกา” ที่มีอาวุโสสูงสุดที่อยู่ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จับสลากว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากัน ผู้ใดเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เพื่อให้ครบ 3 คน แต่ถ้าการลงคะแนนเลือกนี้หากไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งก็ให้ดำเนินการเลือกส่วนนี้ใหม่ (กรณีต้องเลือกคนที่มีเท่ากัน)

ข้อ 12 กรณีที่มีผู้สมัครไม่เกิน 3 คน (การคัดเลือกเพื่อไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องการคนที่มีคุณสมบัติพร้อมเหมาะสม 3 คน) ไม่ให้นำวิธีการลงคะแนนเลือกตามข้อ 11 มาใช้ แต่ให้ “ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา” ลงคะแนนเลือกผู้สมัครทีละคน โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเกินครึ่งหนึ่ง ให้เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนตามเกณฑ์นี้ หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่ต้องให้เลือก ก็ให้ดำเนินการคัดเลือกใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 200 วรรคสอง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 วรรคสอง