posttoday

"กรณ์" ชู “ประกันรายได้-เกษตรพรีเมียม” แก้ปัญหายากจนยั่งยืน

04 กรกฎาคม 2562

กรณ์ อภิปรายญัตติปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ชู นโยบายประกันรายได้และเกษตรพรีเมียม ช่วยเกษตรกรมีความมั่นคงในชีวิตได้ ชี้โอกาสประเทศไทยเป็นคลังอาหารของโลกในอีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า

กรณ์ อภิปรายญัตติปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ชู นโยบายประกันรายได้และเกษตรพรีเมียม ช่วยเกษตรกรมีความมั่นคงในชีวิตได้ ชี้โอกาสประเทศไทยเป็นคลังอาหารของโลกในอีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2562 นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายในญัตติปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่มีผลกระทบต่อพี่น้องเกษตกรทั่วประเทศ โดยกล่าวว่า ในฐานะผู้ที่สนใจในเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด มองว่าเศรษฐกิจของไทยจะพัฒนาไม่ได้ และไม่สามารถพ้นจากความยากจนได้เลย ตราบใดที่เกษตรกรหลายล้านครอบครัวยังต้องประสบปัญหาความยากจน สืบเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวข้องใจว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เกษตรกรชาวไทย ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านผลผลิตทางการเกษตร ที่ชาวโลกยอมรับสูงสุด โดยเฉพาะชาวนาในทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับการยอมรับว่า ผลิตข้าวได้ดีที่สุด อร่อยที่สุด ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 ของโลกมาต่อเนื่องหลายปี แต่กลับเป็นเกษตรกรที่ยากจนที่สุดในประเทศ

“ถ้าชาวนาไทยอยู่ในต่างประเทศ เช่น ในประเทศญี่ปุ่น มีผลผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกอย่างนี้ ไม่มีทางที่เขาจะยากจน ผมได้ใช้เวลาศึกษาจนรู้ว่า ปัญหาเฉพาะหน้า จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอไว้เป็นนโยบายคือเร่งขับเคลื่อนการประกันรายได้ เพื่อช่วยเกษตรกร ตอบโจทย์ความต้องการให้เกษตรไม่ขาดทุนซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าโอกาสรั่วไหลแทบจะไม่มีเลย เงินทุกบาททุกสตางค์ถึงมือเกษตรกรโดยตรง” นายกรณ์ กล่าว

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ด้วยยุทธศาสตร์เกษตรพรีเมี่ยม โดยสินค้าเกษตรต้อง พันธุ์ดี มีคุณภาพ อร่อย ปลอดภัย ขายได้ราคา ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้น เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยอย่างมาก โดยมี 3 ประการ ที่ต้องคำนึงถึงคือ 1. แบรนด์เรื่องอาหาร สินค้าเกษตรเราดีอยู่แล้วทั่วโลกให้การยอมรับ  สาเหตุสำคัญต้องกำหนดเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ เนื่องจากในประเด็นมหภาค ธนาคารโลกประกาศตัวเลขประชากรโลก จะเพิ่มจาก 7 พันล้าน เป็นหมื่นล้านคน ภายใน 30 ปี ข้างหน้า ปริมาณอาหารโดยรวมที่เราผลิตโดยรวมทั่วโลกเพียงพอกับประชากรเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร พื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่เพียงพอ โจทย์สำคัญคือ เราจะผลิตอาหารให้เพียงพออย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสของเรา ความต้องการอาหารของโลกคือ โอกาสของคนไทย

ประการที่ 2 ประชากรที่จะเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในเอเซีย รสนิยม ทางอาหาร ความคุ้นเคย ที่จะบริโภคสิ่งที่เราผลิต ฐานลูกค้าเรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ประเทศจีน และอินเดีย ที่มีอัตราการขยายตัวเร็วและแรงที่สุดในโลก มีแนวโน้มร่ำรวยขึ้น กำลังซื้อก็เพิ่มขั้น รสนิยมการบริโภคเปลี่ยนหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพ และสิ่งแรก ๆ ที่เขาให้ความสำคัญคือ คุณภาพอาหาร ดังนั้น ยุทธสาสตร์การปรับให้เป็นเกษตรพรีเมี่ยม หรืออินทรีย์ ปลอดสาร จึงถูกต้องและตรงกับบริบท ความเปลี่ยนแปลงในโลก

ประการที่ 3 เกษตรกรบ้านเรา เป็นเกษตรรายย่อยจำนวนมาก การที่เราจะแข่งกับประเทศใกล้เคียง เช่น กัมพูชา เวียดนาม ในเชิงปริมาณ ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม เราทำได้ยาก แต่สิ่งที่เราจะแข่งได้คือ คุณภาพ เกษตรประณีต คือสินค้าเกษตรพรีเมียม นโยบายนี้ จึงสมเหตุสมผลตามบริบทของประเทศของเรา ถ้ามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย ได้อย่างยั่งยืน

“การทำเกษตรพรีเมี่ยมนั้น เกษตรกรเขาพร้อมปรับ เปลี่ยน ขอเพียงความมั่นใจว่า ถ้าเขาเปลี่ยนแล้วจะมีตลาด สามารถขายสินค้าของเขาได้และได้ราคาที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับวิธีปกติที่ทำอยุ่ รัฐบาล ต้องให้ความมั่นใจทางด้านราคา มีตลาดที่จะรองรับเกษตรพรีเมียมของเขา อย่างไรก็ตามต้องขอชมเชย รัฐบาลปัจจุบันที่มีนโยบายเพิ่ม นาอินทรีย์ 1 ล้านไร่ ชาวนา จ.มหาสารคาม ที่ผมเข้าไปช่วยทำเกษตรพรีเมียม ได้เข้าโครงการด้วย ได้ทุนมาช่วยช่วงการปรับเปลี่ยน สุดท้ายสามารถออกใบรับรองโดยไม่ต้องมี่ค่าใช้จ่าย จนในที่สุดสามารถขายสินค้าได้ โดยมีรัฐบาลรับรอง ซึ่งอยากให้รัฐบาลทำอย่างต่อเนื่อง แต่เชิงระบบ คือ เรื่องบริหารจัดการ ถ้าเราปล่อยเกษตรกร ปรับเข้าสู่ เกษตรอินทีรย์ ด้วยตัวเขาเอง เขาทำไม่ได้ การบริหารจัดการ ต้องได้รับความช่วยเหลือ และวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ปฎิรูประบบสหกรณ์ของไทย สหกรณ์เรามีเยอะ แต่มีสัดส่วนที่เข้าเกณฑ์มีประสิทธิภาพน้อยมาก เกษตรกรสมัยใหม่ ก็ยังน้อยมาก” นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ ได้ยกตัวอย่างประเทศ นิวซีแลนด์ เคยมีปัญหามากเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จนกระทั่งได้มีการควบรวมสหกรณ์แห่งชาติเป็นสหกรณ์เดียว ไม่ได้เป็นของรัฐ แต่เป็นเกษตรกรถือหุ้นกันเอง สหกรณ์เขาขายนมเนยไปทั่วโลก มีปันผล และปันส่วนกำไร ไปเพื่อการวิเคราะห์ วิจัยเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรของเขาได้อย่างต่อเนื่อง การทำเกษตรพรีเมี่ยม ต้องพัฒนาในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อนำไปสู่ความทันสมัย ทั้งการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกร มีความั่นคง และยั่งยืนในอนาคต และผลพลอยได้คือ ลูกหลานเกษตรกรมาร่วมทำงาน เพราะเขาเห็นอนาคตเกษตรไทย เป็นเกษตรดาวรุ่งได้