posttoday

จ่อฟ้องยูเอ็น-อียู! หลัง ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำร้อง คสช.ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.มิชอบ

25 มิถุนายน 2562

ศาลปกครองสูดสุดยกคำร้อง คสช. สรรหา ส.ว. มิชอบ ยัน “พล.อ.ประยุทธ์ - คสช." มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ผู้ประสานงานราษฎรไทยแห่งชาติ ผู้ร้องเตรียมฟ้องยูเอ็น-อียู

ศาลปกครองสูดสุดยกคำร้อง คสช. สรรหา ส.ว. มิชอบ ยัน  “พล.อ.ประยุทธ์ - คสช." มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ผู้ประสานงานราษฎรไทยแห่งชาติ ผู้ร้องเตรียมฟ้องยูเอ็น-อียู

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ศาลปกครองสูดสุดมีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับคำร้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติ ที่ร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการแต่งตั้งบุคคล ซึ่งไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง 

โดย ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง คสช.และนายกฯ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้การรองรับ ซึ่งผู้ถูกร้องทั้งสองถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

ส่วนที่อ้างว่า ศาลปกครองกลาง ไม่เรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.มาพิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งยกฟ้องนั้น ก็รับฟังไม่ได้ เนื่องจากตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2553 ข้อ 54 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลส่งเอกสารหลักฐานได้ แต่เป็นดุลพินิจของศาลจะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือไม่

ซึ่งในกรณีนี้เมื่อศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณา จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะต้องเรียกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.ตามที่ร้องขอ เช่นเดียวกับกรณีที่ขอให้นำเรื่องนี้เสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดนั้น ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดใช้ดุลพินิจว่าจะนำเรื่องใดเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของทั้งตุลาการ และผู้ร้องจะมีสิทธิเสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดได้

ด้าน นายพลพาขุน เศรษฐญาบดี ผู้ประสานงานราษฎรไทยแห่งชาติ ในฐานะผู้ฟ้อง กล่าวว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นไม่รับไว้พิจารณาคดี ในฐานะปวงชนชาวไทยซึ่งโดนลิดรอนสิทธิ์จากการสรรหา  ถือว่าได้จบลงด้วยคำสั่งนี้ แต่ยังเห็นว่ากระบวนการสรรหาไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ดังนั้น หลังจากนี้จะนำเรื่องนี้ไปร้องระดับโลก ทั้งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)  และสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อนำข้อมูลนี้ส่งไปให้ทั่วโลกทราบว่า ตัวแทนปวงชนในสภาไม่ได้เป็นเช่นนี้  และเราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า คณกรรมการสรรหาต้องมีความเป็นกลาง และเห็นว่าผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ได้เป็นไปตามนั้น

ภาพประกอบข่าว