posttoday

"สามารถ"เตือนต่อสัญญาทางด่วน 30 ปีคิดดีแล้วหรือ

25 มิถุนายน 2562

"สามารถ ราชพลสิทธิ์"เตือนการทางพิเศษฯต่อสัญญาทางด่วน 30 ปีให้บีอีเอ็มคิดดีหรือยัง พร้อมเสนอ 2 ข้อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

"สามารถ ราชพลสิทธิ์"เตือนการทางพิเศษฯต่อสัญญาทางด่วน 30 ปีให้บีอีเอ็มคิดดีหรือยัง พร้อมเสนอ 2 ข้อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.62 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเรื่องการต่อสัญญาทางด่วนโดยมีเนื้อหาดังนี้

อนิจจา!!! ต่อสัญญาทางด่วน 30 ปี คิดดีแล้วหรือ?

เป็นข่าวเกรียวกราวขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีการเสนอญัตติด่วน เรื่องค่าโง่ทางด่วนเพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องนี้ จากกรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตัดสินใจขยายสัมปทานทางด่วนให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มผู้รับสัมปทาน ซึ่งจะมีการพิจารณาญัตติด่วนนี้ในพุธวันที่ 26 มิถุนายน 2562

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ผมได้เขียนบทความเรื่อง “จับตา! ต่อสัญญาทางด่วน 37 ปี เพื่อใคร?” มาถึงวันนี้ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนเวลาจาก 37 ปี เป็น 30 ปี จึงน่าติดตามว่าระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี เหมาะสมหรือยังคงยาวนานเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับหนี้ที่การทางพิเศษฯ จะต้องชดใช้ให้บีอีเอ็ม

การทางพิเศษฯ ได้เปิดให้บริการทางด่วนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีทั้งทางด่วนที่การทางพิเศษฯ ลงทุนก่อสร้างเอง และทางด่วนที่บีอีเอ็มลงทุน ซึ่งประกอบด้วยทางด่วนศรีรัชหรือทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางด่วนบางโคล่-แจ้งวัฒนะ และทางด่วนจากทางแยกต่างระดับพญาไท-ศรีนครินทร์) และทางด่วนอุดรรัถยา หรือทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน

บีอีเอ็มได้ร่วมทำงานกับการพิเศษฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา ปรากฏว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นถึง 17 ข้อพิพาท เป็นข้อพิพาทที่เกิดจาก 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย (1) การขึ้นค่าทางด่วน ซึ่งบีอีเอ็มกล่าวหาการทางพิเศษฯ ว่าขึ้นค่าทางด่วนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา (2) มีการต่อขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์มาแข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ทำให้บีอีเอ็มได้รับรายได้จากค่าทางด่วนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ (3) การทางพิเศษฯ กล่าวหาบีอีเอ็มว่าไม่ขยายช่องจราจรบนทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

ข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น มีเพียงข้อพิพาทเดียวเท่านั้นที่ได้ข้อยุติแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้คดีและให้จ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็มเป็นจำนวน 4,318.4 ล้านบาท สืบเนื่องจากมีการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิตมาเป็นคู่แข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ข้อพิพาทที่เหลือจำนวน 16 ข้อพิพาท เป็นข้อพิพาทที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของศาลปกครองจำนวน 3 ข้อพิพาท ขั้นอนุญาโตตุลาการจำนวน 9 ข้อพิพาท และข้อพิพาทที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจำนวน 4 ข้อพิพาท

มีการประเมินโดยผู้เกี่ยวข้องในการทางพิเศษฯ ว่าในจำนวนข้อพิพาทที่เหลือ 16 ข้อพิพาท มีเพียง 2 ข้อพิพาทเท่านั้นที่การทางพิเศษฯ จะชนะคดี ที่เหลืออีก 14 ข้อพิพาท การทางพิเศษฯ จะแพ้ทั้งหมด ทำให้การทางพิเศษฯ จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็มเพิ่มขึ้นอีก 133,197.2 ล้านบาท รวมเป็น 137,515.6 ล้านบาท ต่อมามีการเจรจาต่อรองทำให้เงินชดเชยลดลงเหลือ 64,953 ล้านบาท หรือลดลงถึง 53%

หากการทางพิเศษฯ ไม่ต้องการจ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็ม การทางพิเศษฯ จะต้องขยายเวลาสัมปทานให้บีอีเอ็มแทน ซึ่งจะต้องขยายให้ถึง 37 ปี มาถึงเวลานี้ลดลงเหลือ 30 ปี โดยอ้างว่าบีอีเอ็มยอมลดเงินชดเชยให้อีก ทำให้เหลือเงินชดเชย 59,853 ล้านบาท

ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นก็คือ เงินชดเชยทั้งหมด 59,853 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินชดเชยที่การทางพิเศษฯ แพ้คดีแน่นอนแล้วเพียง 4,318.4 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือเป็นการคาดการณ์ว่าการทางพิเศษฯ จะแพ้คดีเกือบทั้งหมด หากไม่เป็นไปตามคาดการณ์หรือการทางพิเศษฯ ชนะคดีเพิ่มขึ้น การต่อสัญญาให้บีอีเอ็มเป็นเวลาถึง 30 ปี จะทำให้การทางพิเศษฯ เสียเปรียบอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอแนะดังนี้

1. พิจารณาต่อสัญญาให้บีอีเอ็มเฉพาะข้อพิพาทที่การทางพิเศษฯ แพ้คดีแล้ว เนื่องจากมีการต่อขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ทำให้ทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน มีคู่แข่งขัน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ จ่ายเงินชดเชยจำนวน 4,318.4 ล้านบาท ดังนั้น การทางพิเศษฯ จึงควรพิจารณาต่อสัญญาเฉพาะทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับเงินชดเชยจำนวน 4,318.4 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่ 30 ปี อย่างแน่นอน

2. ข้อพิพาทที่เหลือควรรอให้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินก่อน แล้วจึงมาพิจารณาว่าจะต่อสัญญาทางด่วนสายใด เป็นเวลานานเท่าไหร่ให้บีอีเอ็ม ไม่ควรใช้วิธีเหมาเข่งต่อสัญญาก่อนศาลปกครองสูงสุดตัดสิน

ทั้งหมดนี้ ผมต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งการทางพิเศษฯ และบีอีเอ็ม เรื่องนี้จึงต้องติดตามดูว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2562 จะมีมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องนี้หรือไม่