เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค จะยื่นญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและสอบสวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 4 ประเด็น ประกอบด้วย การได้มาซึ่ง ส.ว.มีการตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการในการสรรหาหรือไม่ คณะกรรมการดังกล่าวมีระเบียบวิธีในการสรรหาอย่างไร การที่มีสมาชิกหรือญาติเข้ามาโดยชอบหรือไม่ เป็นเรื่องขัดกันซึ่งผลประโยชน์หรือไม่ และงบประมาณ ที่ใช้ในการสรรหา 1,300 ล้านบาท ได้ถูกใช้เป็นไปตามระเบียบวิธีงบประมาณหรือไม่ โดยญัตตินี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน จะเป็นผู้เสนอ โดยมีผู้รับรองเกินจำนวน ขอเรียกร้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเร่งบรรจุญัตติในสัปดาห์หน้า เพื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านจะได้ทำงานต่อไป
ด้าน นายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าส.ส.พรรคอนาคตใหม่จะยื่นให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้ตรวจสอบว่าการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะกรรมการสรรหา 10 คนดังกล่าว มี 6 คนมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเสียเอง ซึ่งก่อนหน้านี้พยายามร้องไปตามองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึง ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สำเร็จจึงจะใช้ช่องทางนี้ในการดำเนินการ
ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ขั้นตอนดังกล่าวเป็นการดำเนินการของ ส.ส.ที่จะกล่าวหา ส.ว. ต่อสภาฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ใครๆก็ สามารถกล่าวหาได้ แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้การทำงานของ ส.ว. ต้องสะดุดลง เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จะรับญัตติดังกล่าวไว้พิจารณาในประเด็นใดบ้าง และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับเรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ต้องเป็นโมฆะด้วย เพราะขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านพ้นเสร็จสิ้นไปแล้ว
“เรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ว.นั้น หากบุคคลใดต้องการจะตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ว.ก็คงจะต้องใช้ช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่การอภิปรายในสภาฯ ซึ่งจะใช้ช่องทางไหนนั้นมี แต่ผม ไม่บอก แต่หาก ส.ว.ต้องการที่จะตรวจสอบกันเองนั้นสามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 โดยลงชื่อและยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้” นายพรเพชร กล่าว