posttoday

"ทวี" ซัด กกต. ขาดความชอบธรรม เจตนาให้ผู้ขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส.เข้าสภา เลือกประธานสภาและนายกฯ

20 พฤษภาคม 2562

เรียกร้องให้กกต.เร่งส่งสำนวนว่าที่ส.ส.ถือหุ้นสื่อให้ศาลฯวินิจฉัยโดยด่วนก่อนเปิดประชุมสภาเลือกประธานสภาและนายกฯ

เรียกร้องให้กกต.เร่งส่งสำนวนว่าที่ส.ส.ถือหุ้นสื่อให้ศาลฯวินิจฉัยโดยด่วนก่อนเปิดประชุมสภาเลือกประธานสภาและนายกฯ

20 พ.ค. 62 พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.) ได้โพสต์ข้อความลงในเพจส่วนตน เรียกร้องให้กกต.เร่งส่งสำนวนว่าที่ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ให้ศาลวินิจฉัยโดยด่วนก่อนเปิดประชุมสภาเลือกประธานสภาและนายกฯ

พ.ต.อ.ทวี โพสต์ข้อความดังนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 224 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต)ให้มีอำนาจควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ได้กำหนดกรอบเวลาตามมาตรา 121 ที่บัญญัติว่า

“ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกมาประชุมเป็นครั้งแรก” หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาและนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

แต่ปัญหามีว่าจำนวน ส.ส. 498 คนที่ กกต รับรองให้เข้าสภา มีหลักฐานปรากฏแก่ กกต และมีผู้ร้องว่าคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนประมาณ 50-60 คน ซึ่งเป็นจำนวน ส.ส.ที่อาจเท่ากับหรือมากกว่าพรรคซึ่งชนะอันดับที่ 4 ในการเลือกตั้งครั้งนี้เสียอีก โดยบุคคลเหล่านี้ปรากฎกับ กกต ว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามที่ไม่สามารถยื่นการสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่กำหนดว่า

"บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

การวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.จึงถือเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ กกต.โดยตรงที่ต้องวินิจฉัย ซึ่งในหลักการ กกต. จะต้องดำเนินตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครทุกรายให้ชัดเจนจึงจะประกาศให้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอ(24 มีนาคม 2562)

แต่ กกต.ได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เคร่งครัดจนเป็นเหตุให้ผู้สมัคร ส.ส. ที่ขาดคุณสมบัติได้รับการเลือกตั้งและกกต.ก็ได้ประกาศรับรองให้บุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมอยู่ในจำนวน 498 คนด้วย ทั้งๆที่มีผู้ร้องคัดค้านและมีข้อมูลหลักฐานความปรากฎ กับ กกต ก่อนที่ กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

อีกทั้งกกต.ยังได้รับทราบก่อนการประกาศรับรองผลเช่นกันว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้พิจารณวางบรรทัดฐานคำพิพากษาในคดีเดียวกันนี้ ไว้อย่างชัดแจ้งว่า

"ในประเด็นการถือหุ้นดังกล่าวแต่เพียงว่า เมื่อผู้สมัครเข้ารับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์รับพิมพ์หนังสือพิมพ์หนังสือจำหน่ายและจำหน่ายหนังสือพิมพ์” ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแล้ว(ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมากกว่า 9 ฉบับ)

จากการที่ กกต.ก็ได้ประกาศ รับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ความปรากฏว่าขาดคุณสมบัติในการรับสมัครเลือกตั้ง เข้าไปไปใช้สิทธิ์สำคัญในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี ในทางกฎหมายถือเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้นเพราะต้องห้ามห้ามเป็นผู้สมัคร ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 93(3) ที่มีจำนวน มากถึง 60-70 คน

ขณะที่เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองฝ่ายมีความก้ำกึ่งกัน แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ต้องเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีเมื่อไร จึงมีเวลาที่ เร่งด่วน สำหรับ กกต ที่จะดำเนินการให้ถูกต้องเป็นธรรมตามกฎหมายได้

ดังนั้น กกต.ต้องเร่งส่งสำนวนให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง หรือศาลรัฐธรรมนูญ ทำการวินิจโดยด่วนที่สุด ไม่ควรให้ ส.ส.ที่มีความปรากฎว่าขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส.ไปใช้อำนาจในการลงมติเลือกประธานสภารัฐสภา หรือนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ประธานสภาฯและนายกรัฐมนตรี ที่ได้มาจากการดำเนินการกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น

ซึ่งอาจเปรียบได้กับการให้ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เสมือนไร้ความสามารถหรือบุคคลวิกลจริตไปเป็นผู้จัดการมรดกโดยที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกระทำการดังกล่าวได้

กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้ควรที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรรีบสรุปสำนวนคนที่เข้าข่ายไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำการพิจารณาในประเด็นเรื่องคุณสมบัติโดยด่วนเพราะการพิจารณาคดีที่ผ่านมานั้นใช้เวลาไม่นานก็จะสามารถทราบคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้ว

สำหรับการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี หลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไร และเลือกนายกเมื่อไร

ดังนั้นควรที่ กกต ต้องเร่งส่งสำนวนให้ศาลพิจารณาและพิพากษาโดยด่วนหากศาลพิพากษาว่าขาดคุณสมบัติ จะได้จัดการเลือกตั้งเป็นการด่วนเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยชอบด้วยกฎหมายไปปฏิบัติหน้าที่เลือกประธานสภาฯและนายกรัฐมนตรี ต่อไป

ทั้งนี้ก็เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งที่ สนง.กกต. ได้ใช้งบประมาณมหาศาล ซึงเมื่อรวมถึงค่าใช้จ่ายทุกรายการแล้วมีมากกว่า 8,414 พันล้านบาท เป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

"ทวี" ซัด กกต. ขาดความชอบธรรม เจตนาให้ผู้ขาดคุณสมบัติเป็น ส.ส.เข้าสภา เลือกประธานสภาและนายกฯ