posttoday

เช็กชื่อคนดังได้รับพระราชทานอภัยโทษ

03 พฤษภาคม 2562

คาดมีผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชอภัยโทษเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประมาณ 4-5 หมื่นคน

คาดมีผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชอภัยโทษเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประมาณ 4-5 หมื่นคน

หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 ทำให้เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชอภัยโทษประมาณ 4-5 หมื่นคน ส่วนคนดังที่ได้รับการปล่อยตัวและได้รับการลดโทษนั้น มี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี ซึ่งศาลพิพากษาจำคุก 8 เดือน คดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในข่ายได้รับปล่อยตัว

ทั้งนี้ ยกเว้นนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อีกคน ซึ่งแม้จะมีอายุเกิน 70 ปี แต่ยังมีคดีที่ถูกศาลพิพากษายืนจำคุก 20 ปี ฐานทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ ค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทย กว่าพันล้าน เมื่อ 6 ก.ย. 59 ไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว แต่จะได้รับการลดโทษ

ขณะที่ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ผู้ต้องขังในคดีหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน เข้าเงื่อนไขได้รับการปล่อยตัวเนื่องจาก นายจตุภัทร์ รับโทษจำคุกมาแล้วกว่า 2 ปี เหลือโทษจำคุกอีกไม่ถึง 6 เดือน ทำให้มีคุณสมบัติเข้าตามเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ

นอกจากนี้ยังมี นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 เดือนฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง กรณีป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้อกล่าวหา นายสุพจน์ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จเกี่ยวกับเงินจำนวน 17,553,000 บาทเศษ และรถโฟล์กสวาเกน (Volk Swagen) รวมมูลค่าทั้งสิ้น 20,473,000 บาท เมื่อเดือนต.ค.61 แม้อายุเกิน 60 ปี แต่ติดเงื่อนไขต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตปฎิบัติหน้าที่มิชอบ จึงอาจได้รับลดวันต้องโทษ กรณีของ นายสุพจน์ หากลดโทษแล้วไม่เหลือวันต้องโทษอีกก็ได้รับการปล่อยตัวไปอัตโนมัติ

ด้าน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 42 ปี คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2560 ไม่อยู่ในข่ายได้รับการปล่อยตัว แต่ได้ลดโทษ เช่นเดียวกับ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องโทษหลายคดี ล่าสุด 21 มี.ค.62 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี คดีสั่งย้ายลดตำแหน่งโดยมิชอบ ที่ได้พิจารณาลดวันต้องโทษ

อย่างไรก็ตามในส่วนผู้ต้องขังในคดีทุจริตปล่อยกู้แบงค์กรุงไทย ซึ่งศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุก 12-18 ปี ถูกส่งตัวเข้ามายังเรือนจำเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2558 ซึ่งผู้ต้องขังที่เป็นผู้บริหารส่วนใหญ่ได้รับการพักโทษไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขได้รับการอภัยโทษ

สำหรับผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

ทั้งนี้ ผู้ต้องโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ได้แก่ 1.ผู้ต้องกักขัง 2.ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ 3.ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ โดยกรณีผู้ต้องกักขังซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

ส่วนนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป คือ 1.ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ 2.ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ เป็นคนพิการทุพพลภาพที่มีลักษณะอันเห็นได้ชัด เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง หรือโรคจิตซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้

ขณะเดียวกันเป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป, เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ, เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และต้องได้รับต่อไปโทษเหลืออยู่ไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

สำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ คือ 1.นักโทษเด็ดขาดที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว 2.ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 8 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2559 ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ผู้กระทำความผิดซ้ำ และไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม นักโทษเด็ดขาดชั้นเลวหรือชั้นเลวมาก นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดตามมาตรา 276 วรรคสาม มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา 280 มาตรา 285 และมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนนักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิต ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

ขณะที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และจะพ้นโทษในคราวเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกานี้ จะต้องผ่านหรือเคยผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามที่กรมราชทัณฑ์หรือกระทรวงกลาโหมกำหนด