posttoday

“อลงกรณ์” ขู่ ใครคิดเป็น “งูเห่า” เจอดีแน่

18 เมษายน 2562

กก.บห.ปชป.เตรียมตั้งคณะทำงานหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคให้โหวตผ่านอินเทอร์เน็ตจบก่อน 9 พ.ค. จากนั้น ไม่เกิน 7 วัน เลือก กก.บห.ชุดใหม่ เคาะร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาล"อลงกรณ์"แนะใช้ระบบรัฐสภาแก้ปัญหา

กก.บห.ปชป.เตรียมตั้งคณะทำงานหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคให้โหวตผ่านอินเทอร์เน็ตจบก่อน 9 พ.ค. จากนั้น ไม่เกิน 7 วัน เลือก กก.บห.ชุดใหม่ เคาะร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาล"อลงกรณ์"แนะใช้ระบบรัฐสภาแก้ปัญหา

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีวาระในการเตรียมการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 24 เม.ย. เพื่อรับรองงบดุลรายงานผลการดำเนินการปี 2561 การปฏิรูปพรรค และการตั้งคณะทำงานจัดการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค อาทิ ขั้นตอนการรับสมัครหัวหน้าพรรค การเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ และการให้สมาชิกพรรคหยั่งเสียงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 9 พ.ค. โดยมั่นใจว่ากระบวนการหยั่งเสียงรวมถึงการให้ผู้สมัครหัวหน้าพรรคแสดงวิสัยทัศน์จะไม่ทำให้พรรคเกิดความแตกแยก แต่เป็นจุดแข็งในความเป็นสถาบันการเมืองที่พรรคได้เริ่มต้นเอาไว้และต้องเดินหน้าต่อ เชื่อว่าทุกฝ่ายยอมรับในกติกา

ส่วนการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 9 พ.ค. ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งข้อบังคับพรรคกำหนดให้การลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคต้องคำนึงถึงผลการหยั่งเสียงด้วย ซึ่งตนจะไม่ลงสมัครหัวหน้าพรรคในครั้งนี้ เนื่องจากครั้งที่ผ่านมาได้คะแนนเสียงเพียงสองพันกว่าคะแนนเท่านั้น โดยกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และ ส.ส. ที่ผ่านการรับรองจาก กกต. แล้วจะเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมืองว่าจะร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน โดยในขณะนี้การให้ความเห็นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด รวมถึงข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ล้วนเป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กับส.ส. ซึ่งไม่ว่าจะมีมติออกมาเช่นไร ต้องเคารพมติพรรคจะมีงูเห่าไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากมีงูเห่าเกิดขึ้นพรรคก็มีมาตรการในการจัดการตามข้อบังคับพรรค

ส่วนกรณีที่อาจมีข้ออ้างว่าการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเอกสิทธิของ ส.ส. ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จะอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ปฏิบัติตามมติพรรคไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้กว้างๆ เท่านั้น อีกทั้งการเป็น ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ไม่ได้เป็นส.ส.โดยอิสระ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามมติพรรคในเรื่องที่มีความสำคัญทางการเมือง ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าการแก้ปัญหาการเมืองควรแก้ในระบบรัฐสภา และในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมืองใดยังไม่ชัดเจนว่าจะได้จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากยังไม่มีการรับรอง ส.ส. จึงอยากให้ทุกฝ่ายรอผลการเลือกตั้งก่อน และขอให้เคารพเสียงประชาชนหากเสียงไม่พอก็เป็นฝ่ายค้าน เกิดปัญหาก็กลับไปให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ อย่าใช้วิชามารหรือวิธีพิสดารจนทำให้การเมืองต้องกลับไปสู่วังวนเดิม ๆ อีก

อย่างไรก็ตามไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่จะให้พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลโดยใช้เสียง สว. มาร่วมพิจารณากฎหมายงบประมาณด้วยการอ้างถึงมาตรา 270 เพราะเป็นการคิดแผลงๆ ที่ไม่เป็นไปตามระบบรัฐสภาซึ่งจะสร้างปัญหามากขึ้น