posttoday

กกต.เชิญผู้แทน-องค์กรตปท.ร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งไทย

23 มีนาคม 2562

กกต.เชิญ ผู้แทนนานาชาติ -องค์การระหว่างประเทศร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ยืนยันเป็นกลาง โปร่งใส ชี้ประชาธิปไตยไม่มีพิมพ์เขียว

กกต.เชิญ ผู้แทนนานาชาติ -องค์การระหว่างประเทศร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ยืนยันเป็นกลาง โปร่งใส ชี้ประชาธิปไตยไม่มีพิมพ์เขียว

เมื่อวันที่ 23 มีค. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดโครงการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 ของผู้แทนองค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศ 11 ประเทศ และ 1 องค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดการเลือกตั้งของไทยและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศท่านกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ในนามของคณะกรรมการการเลือกตั้งรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติ จาก 11 ประเทศ และ 1 องค์กร รวมจำนวน 42 ท่าน เข้าร่วมโครงการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 23 - 25 มี.ค. 2562 การเลือกตั้งถือเป็นกระบวนการที่สำคัญในระบบการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยเพื่อที่จะคัดสรรเลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศและให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีกลไกของการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง โดยผ่านการเลือกตั้งที่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เป็นประจำและสม่ำเสมอเพื่อเป็นการป้องกันการผูกขาดอำนาจและยังเป็นส่วนสำคัญของการสนับสนุนประชาธิปไตยอีกด้วย

นอกจากนี้การเลือกตั้งยังเป็นปัจจัยที่ยืนยันความมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของพลเมืองทุกคนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการยอมรับนับถือตนเอง
ซึ่งการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งจะเป็นโอกาสสำหรับประชาชนได้แสดงออกซึ่งความคิดและความต้องการในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ขอเรียนว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของการเป็นองค์กรอิสระที่มีความเป็นกลางทำหน้าที่ ในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับและการออกเสียงประชามติให้มีความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ซึ่งในภาพรวมของการจัดการเลือกตั้งยังครอบคลุมไปถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนการให้ความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นสิ่งที่เรียก ได้ว่า สำคัญที่สุดในการเตรียมการเลือกตั้ง คือ การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม รวมทั้งการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างเสรีและโดยปราศจากการครอบงำใด ๆ นอกจากนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีหน้าที่สำคัญ ในการสืบสวนและไต่สวนข้อร้องเรียน รวมทั้งข้อขัดแย้งในการเลือกตั้ง และมีคำวินิจฉัยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

"ขอให้ทุกท่านตระหนักว่า ไม่มีพิมพ์เขียวของระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเดียวที่ใช้ร่วมกันทุกประเทศ แต่ละประเทศล้วนมีแบบฉบับของตนเองที่ถูกออกแบบตามบริบททางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยเองก็มีรูปแบบเฉพาะของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในผู้จัดการเลือกตั้ง ขอเรียนว่าองค์กรจัดการเลือกตั้งไม่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นในสังคมแต่เป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่ได้รับมอบหมายอำนาจให้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งความสำเร็จของภารกิจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากขาดซึ่งการสนับสนุนจากภาคประชาชน และการมีส่วนร่วมในเชิงสร้างสรรค์ของเหล่าบรรดาสื่อมวลชน อีกทั้งนักการเมืองและพรรคการเมืองจะต้องให้ความร่วมมือ ในการแข่งขันอย่างมีคุณภาพและอย่างยุติธรรม โดยยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมของการเลือกตั้งให้สามารถแยกแยะระหว่างการเลือกคนดีและคนไม่ดีได้

ท้ายที่สุดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมโครงการนี้และขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานครและหากท่านมีความประสงค์ใดขอได้โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการให้ทุกท่านมีความพึงพอใจสูงสุดและรู้สึกว่าที่แห่งนี้คือบ้านของท่าน และในการนี้ข้าพเจ้าขอเปิดโครงการสังเกตการณ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปขององค์กรจัดการเลือกตั้งต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ณ บัดนี้"

ทั้งนี้ การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้มีการแบ่งการสังเกตการณ์การเลือกตั้งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ กกต.มีหนังสือเชิญร่วมโครงการฯ ซึ่งก็คือกลุ่มประเทศที่มาร่วมรับฟังการชี้แจงในวันนี้ รวมทั้งสิ้น 42 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้นำองค์กรร่วมสังเกตการณ์ อาทิ H.E.Mr.Arief Ubaid ประธานกกต.อินโดนีเซีย, H.E.Mr.U Hla Thein ประธาน กกต.เมียนมาร์, Mr.U Than Htay กกต.เมียนมาร์,H.E.Mr.Alcino de Araujo Baris ประธาน กกต.ติมอร์-เลสเต, H.E. Mr.Joaquim Amaral เอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเตประจำประเทศไทย เป็นต้น โดยผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้จะลงพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พร้อมกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของ กกต.ไทย ระหว่างวันที่ 22-26 มี.ค.นี้ ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีหนังสือถึง กกต. เพื่อขออนุญาตเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วยตนเอง ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา ราชอาณาจักรเดนมาร์ก สาธารณรัฐฝรั่งเศส ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร คือ สหภาพยุโรป และเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี รวมทั้งสิ้นจำนวน 145คน ซึ่งจะลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วยตนเอง