posttoday

ธีระชัย จี้ กกต.ต้องชี้ขาดแคนดิเดทพลังประชารัฐให้ชัด

11 กุมภาพันธ์ 2562

อดีต รมว.คลัง แสดงความเห็น กกต.ต้องวินิจฉัยการเป็นแคนดิเดทพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ชัดเจน

อดีต รมว.คลัง แสดงความเห็น กกต.ต้องวินิจฉัยการเป็นแคนดิเดทพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ชัดเจน

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.  นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิเคราะห์สาเหตุที่ กกต.ต้องวินิจฉัยว่าการเป็นแคนดิเดทพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า “ตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จะยื่นให้ กกต. พิจารณา กรณีที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ

กรณีที่ว่าอาจจะเข้าลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (12) และ (15) เพราะพล.อ.ประยุทธ์ มีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 และได้รับเงินตอบแทนอีกเดือนละ 125,590 บาท จึงอาจเข้าลักษณะเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในมาตรา 98 (12) และ (15) นั้น

เดิมผมเปรียบเทียบกับการตีความศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 เห็นได้ชัดเจนว่าการเป็นหัวหน้า คสช. นั้น น่าจะเข้าลักษณะของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่บรรยายในคำวินิจฉัยดังกล่าว

แต่ได้มีผู้โต้แย้งว่ากรณี คสช. นั้น มีข้อยกเว้นอยู่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 อย่างไรก็ดี ผมได้อ่านทบทวนมาตรา 263 และพบว่า ถึงแม้วรรคสี่จะบัญญัติไว้ว่า

‘บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามมิให้บุคคลดํารงตําแหน่งทางการเมือง มิให้นํามาใช้บังคับแก่ การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 264 ข้าราชการการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 264 หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 265 หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรานี้’

แต่ข้อยกเว้นดังกล่าวน่าจะหมายความเฉพาะถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานะและการดำรงตำแหน่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

เนื่องจากในวรรคหนึ่ง มีการบัญญัติกรอบใหญ่ของมาตรานี้ไว้ว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ยังคงทําหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทําหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลําดับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้”

ดังนั้น ผมจึงมีความเห็นว่าข้อยกเว้นตามมาตรา 263 น่าจะมิได้เกี่ยวข้องกับข้อห้ามตามมาตรา 98 (12) และ (15)

ถามว่าเหตุใด กกต.จึงจำเป็นจะต้องวินิจฉัยกรณีนี้ให้ชัดเจน? กกต.จำเป็นจะต้องวินิจฉัยกรณีนี้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากผลที่จะเกิดขึ้นถ้าหากสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดกับมาตรา 98 (12) และ (15) :- นอกจาก กกต.จะไม่สามารถอนุญาตให้เป็นแคนดิเดทแล้ว การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยินยอมให้ตนเองเข้าไปอยู่ในสถานะดังกล่าว อาจจะเข้าข่ายเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ!

ถ้าหาก กกต.วินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเมื่อใด จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์หลังจากนั้น มีความเสี่ยงที่จะถูกร้องเรียนว่าเป็นโมฆะได้ทุกเรื่อง

กรณีนี้จึงอาจจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมาก และจำเป็นจะต้องทำให้มีความชัดเจนก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อๆ ไป มิฉะนั้น การประชุมดังกล่าวก็จะเข้าข่ายมีความเสี่ยงทางกฎหมายอีกด้วย

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ”