posttoday

นายกฯเปิดมาตรการคุมค่ายารักษาทั่วถึงเป็นธรรม

25 มกราคม 2562

นายกฯเปิดมาตรการคุมค่ายาและยกระดับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงได้มาตรฐานเป็นธรรม

นายกฯเปิดมาตรการคุมค่ายาและยกระดับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงได้มาตรฐานเป็นธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนว่า รัฐบาลได้กำหนดให้เวชภัณฑ์ เกี่ยวกับการรักษาโรค และบริการรักษาพยาบาล เป็นรายการสินค้าและบริการควบคุมใหม่ ในปี 2562 ทั้งนี้  เพื่อให้การบริการเป็นไปตามมาตรฐาน เหมาะสม โปร่งใส และเป็นธรรม โดยจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาราคายา และเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล  ค่าบริการทางการแพทย์ และ ค่าบริการอื่น ของสถานพยาบาล ประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์  กระทรวงสาธารณสุข  กรมบัญชีกลาง  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ มาร่วมกันพิจารณา กำหนดมาตรการที่เหมาะสม และเป็นธรรม

นายกฯ กล่าวว่า  คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว มีหน้าที่ศึกษา  วิเคราะห์ พัฒนาแนวทาง  หลักเกณฑ์  กลไก  วิธีการ รวมทั้ง เสนอแนะการกำหนดมาตรการดูแลความเหมาะสมในการที่จะคำนวณค่ายา ราคายาที่เป็นธรรมสำหรับ “ทุกฝ่าย”ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ  เช่น ให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับพี่น้องประชาชน

“จะต้องมีฐานในการคิดค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล และจะต้องมีการติดป้ายอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ ให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ หรือสอบถาม ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา ซึ่งกฎหมายมีอยู่ก่อนแล้วนะครับ แต่ต้องทำให้ได้ เข้มงวดกันให้มากยิ่งขึ้นและก็ตอบโจทย์ในครั้งนี้ได้ด้วย ความเหมาะสมและเป็นธรรม สำหรับโรงพยาบาลเอกชน ก็คือไม่ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน”

โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพการรักษาพยาบาล  ผมอยากให้มองปัญหา ด้วย “ความเป็นจริง” ว่าเราจำเป็นต้องมีทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน เพื่อจะเป็นทางเลือก ให้บริการกับพี่น้องประชาชนในทุกระดับ  แต่ก็จำเป็นต้องปรับมาตรฐานให้ได้  ปรับเรื่องความเป็นธรรมให้ได้ บางทีมันก็มากเกินไป ราคายา ราคาค่ารักษาพยาบาลที่มันสูงเกินเหตุนะครับ ต้องมีเหตุมีผลซึ่งกันและกันนะเราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการให้บริการสุขภาพของรัฐ บริการสุขภาพของรัฐ ให้มีมาตรฐาน ให้มีการบริการอย่างทั่วถึง โดยเน้นการป้องกัน มากกว่าการรักษา
อีกทั้ง สามารถรองรับ “สังคมผู้สูงวัย” ในอนาคตได้ด้วย  ในขณะที่ โรงพยาบาลเอกชนก็สามารถรองรับนโยบาย “เมดิคอล ฮับ” ที่เชื่อมโยงไปกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หลายหมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีแนวโน้มลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น การกำหนดให้ยาและเวชภัณฑ์รวมทั้ง บริการรักษาพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุม ในครั้งนี้ หากมีความชัดเจน สามารถสร้างความสมดุลระหว่าง "ราคา" กับ "คุณภาพ" ได้ ก็จะช่วยให้เกิดความพึงพอใจ แก่ประชาชนผู้มารับการรักษา และโรงพยาบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและ วางรากฐานอนาคต ได้อย่างยั่งยืน

ภาพประกอบเนื้อหาข่าว