posttoday

เปิดนโยบายพปชร. ขจัดเหลื่อมล้ำ-สร้างชาติยั่งยืน

25 มกราคม 2562

พปชร. เปิดกรอบนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดย ใช้สโลแกน "นโยบาย 7-7-7" บน 3 พันธกิจหลัก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

พรรคพลังประชารัฐ เปิดกรอบนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดย ใช้สโลแกน "นโยบาย 7-7-7" บน 3 พันธกิจหลัก ประกอบด้วย 7 สวัสดิการประชารัฐ 7 สังคมประชารัฐ และ 7 เศรษฐกิจประชารัฐเพื่อสร้างชาติให้ยั่งยืน

อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้รายละเอียดว่า พรรคพลังประชารัฐจะสร้างชาติไทยอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 พันธกิจ คือ สวัสดิการประชารัฐ สังคมประชารัฐและเศรษฐกิจประชารัฐ โดยแต่ละด้านจะผ่านนโยบายสำคัญ 7 เรื่อง หรือเรียกสั้นๆ 3 พันธกิจ 7:7:7 นโยบายหลัก ซึ่งจะเน้นขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้กับประชาชน สร้างสังคมประชารัฐ ที่มีความสงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปันและสร้างความมั่งคั่งในโลกดิจิทัล

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค พปชร. แถลงว่า นโยบายของเราไม่ใช่เอาของเก่ามาขาย แต่นโยบายต้องตอบโจทย์ประชาชน ประเทศไทย และต้องเป็นนโยบายที่ทำให้ประเทศมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก โดย 7 นโยบายตอบโจทย์สวัสดิการประชารัฐ ประกอบด้วย

1.บัตรประชารัฐ ซึ่งต่อยอดมาจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

2.สวัสดิการรายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความต้องการหรือความจำเป็นพื้นฐานที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มผู้พิการ กลุ่มสตรี กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มอาชีพรับจ้าง

3.สวัสดิการคนเมือง เพราะคนเมืองผู้มีรายได้น้อยต้องเผชิญกับการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าเป็น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น

4.หมดหนี้มีเงินออม พรรคพลังประชารัฐ จะช่วยทุเลาภาระหนี้ให้กับ 6 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ข้าราชการ เอสเอ็มอี ครู และนักศึกษา

5.โครงการบ้านล้านหลัง พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงมีโครงการบ้านล้านหลังประชารัฐ สานต่อสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินการไว้

6.บ้านสุขใจวัยเกษียณ เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องทำให้คนสูงวัยมีความสุข ด้วยโครงการบ้านสุขใจวัยเกษียณ

7.สิทธิที่ดินทำกิน เมื่อมีบ้านแล้วก็ต้องมีที่ดินทำกิน โดยเฉพาะพ่อแม่ พี่น้องเกษตรกร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้ คือ การขจัดความเหลื่อมล้ำด้วยสวัสดิการประชารัฐ และเมื่อประชาชนได้รับโอกาสที่ขาดมานานแล้ว ก็จะสามารถไปทำในเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

สุวิทย์ กล่าวว่า เมื่อสวัสดิการ ประชารัฐขจัดความเหลื่อมล้ำแล้ว ก็ต้องสร้างสังคมที่สงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปัน ด้วย 7 นโยบายตอบโจทย์สังคมประชารัฐ ได้แก่

1.การศึกษา 4.0 พรรคพลัง ประชารัฐ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ต้องทำให้ทุกคนมีโอกาส มีอนาคตตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงคนทำงาน

2.กระจายศูนย์กลางความเจริญสู่ภูมิภาค เนื่องจากความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งมาจากการกระจุกตัวของความเจริญอยู่ที่กรุงเทพฯ

พรรคพลังประชารัฐ จึงมีนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน เช่น โครงการอีอีซี จะต้องมีการต่อยอด รวมทั้งภูมิภาคอื่นๆ เช่น อีสาน 4.0 ล้านนา 4.0 และด้ามขวาน 4.0 โดยให้แต่ละภูมิภาคเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

3.สร้างเมืองน่าอยู่ ใกล้บ้าน มีงานทำ ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากการกระจุกตัวของเมืองเพียงไม่กี่เมือง จึงจำเป็นจะต้องสร้างเมืองให้น่าอยู่ และทำให้เมืองเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยแนวคิด "15 เมืองหลัก 15 เมืองรอง" ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการสร้างที่อยู่อาศัย พัฒนาย่านธุรกิจ ย่านนวัตกรรม เพื่อจะได้ไม่ต้องมาพึ่งพิงเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ อีกต่อไป

4.ชุมชนประชารัฐ ร่วมพัฒนาบ้านเกิด "ชุมชนเข้มแข็ง" เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรค เพื่อให้ทุกคนอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด โดยจะมี "กองทุนพัฒนาชุมชนประชารัฐ" จะมีแหล่งน้ำชุมชน โครงการป่าไม้มีค่า และสร้างวิสาหกิจชุมชน

5.เมืองอัจฉริยะสีเขียว เพื่อความสุขของทุกคน เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ คนจะต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อม เราจะปรับเมืองอัจฉริยะสีเขียว เพื่อความสุขของทุกคน โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคน เพื่อให้คนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างมีความสุข

6.สังคมประชารัฐสีขาว สังคมจะสงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปันได้ ต้องเป็นสังคมประชารัฐสีขาว ที่ "ปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดยา"

7.Bangkok 5.0 ผุด 9 ย่านนวัตกรรม พัฒนาย่านการค้า คืนคลองสวยน้ำใสให้คนกรุง สร้างเครือข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ ผ่านเทคโนโลยี 5จี

สุวิทย์ กล่าวว่า เมื่อคนไทยรับโอกาสที่ขาดมานาน และอยู่ในสังคมที่สงบสุข เข้มแข็ง แบ่งปัน แล้วการสร้างความมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21 ซึ่งพรรคมี 7 นโยบายตอบโจทย์เศรษฐกิจประชารัฐ คือ 1.ยกระดับความสามารถผู้ผลิต 5 ล้าน Smart SMEs 1 ล้าน Smart Farmers 1 ล้าน Markers และ 1 ล้านค้าปลีกชุมชน

2.ก้าวสู่เกษตรประชารัฐ 4.0 ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ด้วยนโยบาย "3 เพิ่ม 3 ลด" นั่นคือ เพิ่มรายได้ เพิ่มนวัตกรรม เพิ่มทางเลือก และลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน

3.กระจายรายได้ กระจายโอกาส ด้วยการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ สร้างเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนสู่ชุมชน

4.ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจแบ่งปัน เพราะจุดแข็งของประเทศไทยประการหนึ่ง คือ ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมของความเกื้อกูลแบ่งปัน

5.สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญที่ประเทศไทยมีโอกาสแข่งขันในเวทีโลก และตอบโจทย์ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน"

6.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต การที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในครั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เน้นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะ 5จี

7.ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เน้นการปฏิรูประบบราชการ ทำให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้ง 7 นโยบายเศรษฐกิจนี้เพื่อตอบโจทย์การสร้างความสามารถ และโอกาสที่เท่าเทียมให้กับคนไทยทุกคน