posttoday

กกต.รอถกหน่วยงานเกี่ยวข้องก่อนเคาะให้อียูสังเกตการณ์เลือกตั้งหรือไม่

08 พฤศจิกายน 2561

ประธานกกต.เผยรอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศก่อนพิจารณาให้อียูเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี62หรือไม่ คาดอีก 2 สัปดาห์สรุป

ประธานกกต.เผยรอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศก่อนพิจารณาให้อียูเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี62หรือไม่ คาดอีก 2 สัปดาห์สรุป

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ตามที่เคยให้ข่าวว่าได้มีการติดต่อจาก สหภาพยุโรป (อียู) เรื่องขอส่งผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่เนื่องจาก กกต. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง การพิจารณาเรื่องนี้จึงอาจขยับไปอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

"กกต. ยังต้องหารือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ที่อาจจะมีการบันทึกพฤติกรรมผู้ที่เคยมาสังเกตการณ์เชิงความเหมาะสมที่อาจนำข้อสังเกตการณ์ไปทำอะไรที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ ก่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง"นายอิทธิพรกล่าว

นายอิทธิพร กล่าวว่า ตามแนวปฏิบัติของ กกต. ที่ผ่านมาตั้งแต่ 15 ปีมาแล้วที่ กกต. เคยเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศที่ กกต. ไทยเคยไปสังเกตการณ์ในประเทศของเขา หรือประเทศใหม่ ๆ ที่สนใจจะมาหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือ เอ็นจีโอ ที่อยากมาสังเกตการณ์ในบ้านเราสามารถเข้ามาได้ภายใต้โปรแกรมผู้สังเกตการณ์ของ กกต. ซึ่งมีสาระสำคัญคือต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย และเงื่อนไขที่เราขอร้อง เช่นจะไปไหนต้องแจ้งต้องบอกเรา และในบางพื้นที่ เช่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องขออนุญาตในบางพื้นที่ที่ล่อแหลมมีความเสี่ยง มาสังเกตการณ์แต่ไม่ใช่มายุ่งย่ามหรือรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ซึ่งก็มีการเข้ามาสังเกตการณ์ โดยเฉพาะอียูเองก็เคยส่งมาสองครั้ง

"ถ้าขอมา และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดก็ไม่มีปัญหา เราก็ให้ไปตามแนวทางปฏิบัติ แต่ถ้าใครจะมานอกเหนือกว่านี้เรายังตอบไม่ได้ เพราะถ้าจะมาเกินขอบเขตของผู้สังเกตการณ์ เราก็ต้องรู้ก่อนว่าเขามาด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง และก่อนที่ กกต. จะลงมติเราก็ต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงการต่างประเทศ หรือรัฐบาลด้วยซ้ำ ว่า กกต. มีความเห็นอย่างไรแล้วอยากฟังความเห็นของหน่วยงานท่านเพื่อประกอบการตัดสินใจขั้นสุดท้าย เพราะเราไม่อยากตัดสินใจโดยลำพังสำหรับรูปแบบใหม่ๆ"นายอิทธิพรกล่าว

ประธาน กกต. กล่าวว่า ที่ผ่านมา อียู ขอมาเป็น “Election Expert Mission (EEM)” แต่คราวนี้ขอมาแบบ “Election Observation Mission (EOM)” ซึ่งสเกลค่อนข้างใหญ่และซับซ้อนกว่า EEM มาก ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่าย Visitor Program ที่กกต.เปิดให้อยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต. ต้องถามความเห็นจาก คสช. ก่อนการตัดสินใจหรือไม่นั้น ประธาน กกต. กล่าวว่ายังไม่คิดว่า กกต. จะต้องไปขออนุมัติหรืออนุญาตจาก คสช. เพราะเป็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งโดยแท้ และการเข้ามาสังเกตการณ์ก็ไม่น่าจะมีประเด็นกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยตรง แต่หาก คสช. มีความเห็นเบื้องต้นก่อนที่เราจะถามไปเราก็อาจนำประกอบการพิจารณา คือความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ ครม. หรือแม้แต่ กอ.รมน. ก็มีความหมายเราก็จะถามเขาไป ส่วน คสช. ถ้ามีความคิดอย่างไรเราก็รับฟัง เพราะถ้าเขาออกคำสั่งอะไรมันตอนนี้มันก็เป็นกฎหมาย เขาสั่งได้ แต่เชื่อว่าเขาไม่ถึงขั้นสั่งหรอก อาจจะแค่สะท้อนว่าเป็นห่วงเรื่องการรักษาความปลอดภัย เพราะหากขอเข้ามาสังเกตการณ์มากเกินไปมันก็เป็นประเด็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต. นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมเมื่อไหร่นั้น นายอิทธิพรกล่าวว่าเดิมคิดว่าจะนำเข้าที่ประชุมสัปดาห์หน้า แต่เนื่องจากการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่เสร็จ สัปดาห์หน้าคงเข้าไม่ทัน ก็คงจะต้องเป็นอีกสัปดาห์ถัดไป และขณะนี้ก็ขอให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยดูตามเอกสารที่อียูส่งมาให้เบื้องต้นอยู่ ซึ่งอาจต้องมีการทำเอกสารกึ่ง ๆ ความตกลงแบบเรียบง่ายอย่างไร มีเนื้อหาทางกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะรู้ดีในเรื่องเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายดอน ปรมัถต์วินัย รมว.ต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการให้องค์กรต่างประเทศมายังเหตุการณ์ นายอิทธิพรกล่าวว่าสิ่งที่นายดอนพูดถึงเงื่อนไขของการมาสังเกตการณ์นั้นถูกต้อง คือเมื่อคุณขอมาดูก็ควรจะเป็นการสังเกตการณ์อย่างสร้างสรรค์ คือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กฎหมาย แล้วเสนอแนะด้วยใจที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่มาแถลงข่าวติติงมาจับผิดหรือทำตัวเป็นกรรมการตัดสินการเมืองในประเทศอื่น