posttoday

"ทักษิณ"โดนหมายจับอีก คดีฟื้นฟูทีพีไอ

22 มิถุนายน 2561

ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ "ทักษิณ" คดีตั้งกระทรวงคลังเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูทีพีไอ ชี้ มีพฤติการณ์หลบหนี

ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ "ทักษิณ" คดีตั้งกระทรวงคลังเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูทีพีไอ ชี้ มีพฤติการณ์หลบหนี

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาคดี อม.44/61 ที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ถือเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ

นัดแรก โดยในวันนี้ทนายความและจำเลยไม่มาศาล และไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อน ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีจึงให้ออกหมายจับ และร่นระยะเวลาการติดตามตัวจากเดิมที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาตรา 28 วรรคสอง กำหนดไว้ 3 เดือน ก่อนที่จะให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยเป็น 1 เดือน ตามกฎหมายฉบับเดียวกันมาตรา 19 วรรค 1 ที่กำหนดว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.นี้ หรือในกฎหมายอื่นที่บทบัญญัติแห่งพ.ร.ปนี้นำมาใช้บังคับ หรือในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาหรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความมีคำขอ ศาลอาจย่นหรือขยายเวลาได้ตามความจำเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยในการแต่งตั้งทนายความ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีแล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจำเลยถูกออกหมายจับในหลายคดี โดยให้ ป.ป.ช.ซึ่งเปนโจทก์ในคดีนี้ติดตามตัวจำเลยมาศาลต่อไป

อย่างไรก็ตามการที่จำเลยไม่มาศาลถือเป็นการปฏิเสธตาม พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาตรา 33 วรรค 3 ที่บัญญัติว่า ในวันพิจารณาครั้งแรกเมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไร คำให้การของจำเลยให้บันทึกไว้ถ้าจำเลยไม่ให้การก็ให้บันทึกไว้ และถ้าจำเลยให้การปฏิเสธหรือไม่ให้การ ก็ให้ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน โดยให้โจทก์จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 40 วัน ในกรณีที่จำเลยมิได้มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ

องค์คณะยังได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ วันที่ 7 สิงหาคม 2561 เวลา 13.30 น. และไต่สวนในวันที่ 10 สิงหาคม 2561 เวลา 13.30 น. 10 สิงหาคม 2561 เวลา 9.30 น.และ 21 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00 น. และให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นบัญชีระบุพยานกำหนดแนวทางไต่สวนก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน 14 วัน โดยให้ส่งหมายแจ้ง หากไม่มีผู้รับให้ปิดหมายต่อไป