posttoday

"บิ๊กตู่"บี้กระทรวงเร่งออกกม. ชงสนช.รองรับแผนปฏิรูปประเทศ

20 มิถุนายน 2561

นายกฯ สั่งหน่วยงาน คลอดกฎหมายที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนประเทศให้พร้อมก่อนเข้าสู่โหมดเตรียมเลือกตั้ง กำชับทุกหน่วยงานดำเนินเสร็จก่อนพ.ย.

นายกฯ สั่งหน่วยงาน คลอดกฎหมายที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนประเทศให้พร้อมก่อนเข้าสู่โหมดเตรียมเลือกตั้ง กำชับทุกหน่วยงานดำเนินเสร็จก่อนพ.ย.

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2561 ได้หารือถึงแนวทางการผลักดันกฎหมายที่สำคัญ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายสำคัญ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ตลอดจนการปฏิรูปที่จำเป็นต้องออกกฎหมาย โดยให้เร่งผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน พ.ย. 2561 นี้

ทั้งนี้ เนื่องจากล่าสุด สนช.ได้แจ้งมายังรัฐบาลว่าในช่วงหลังเดือน พ.ย.เป็นต้นไป จะเป็นช่วงของการเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว จะไม่มีการรับกฎหมายใหม่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.ไม่ได้หารือถึงประเด็นว่า สนช.จะเลื่อนการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่สำคัญ 4 ฉบับออกไป ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร่าง พ.ร.บ.พัฒนาและกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์โฮลดิ้ง) ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมแต่อย่างใด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง  กล่าวยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับรายได้ส่วนกลางของรัฐบาล ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบกับฐานะของรัฐบาล แต่เป็นรายได้ของท้องถิ่น โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของกระทรวงการคลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้ว

สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีความพยายามของภาคเอกชนให้ยกเลิกการออกกฎหมายฉบับนี้ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกันและขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันจับตาเรื่องนี้กันด้วย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเพื่อทำการเกษตร ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.ได้ขยายเวลาการพิจารณาหลายครั้ง และได้ลดเพดานการเก็บภาษีและอัตราการเก็บภาษีจริงของแต่ละประเทศลดลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้เสียภาษีมากเกินไป