posttoday

"วิษณุ"เผยมี4ประเด็นต้องรายงานนายกฯเพื่อปลกล็อคปัญหาจัดเลือกตั้ง

14 มิถุนายน 2561

"วิษณุ"เผยหลังหารือ กกต.-กรธ. มี 4 ประเด็นต้องรายงาน"ประยุทธ"เพื่อแก้ปัญหา ยังไม่ยืนยันต้องมีไพรมารีโหวตหรือไม่

"วิษณุ"เผยหลังหารือ กกต.-กรธ. มี 4 ประเด็นต้องรายงาน"ประยุทธ"เพื่อแก้ปัญหา ยังไม่ยืนยันต้องมีไพรมารีโหวตหรือไม่

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังหารือ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ผู้แทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีการทำไพรมารีโหวตว่า วันนี้หารือกันราว 14 – 15 ประเด็น เรื่องหลัก ๆ ที่ต้องรายงาน คสช. และนายกฯ เพียง 3 – 4 ประเด็นคือ

1.การทำให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่ได้

2.การทำให้พรรคการเมืองสามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ เนื่องจากหัวหน้าสาขาพรรคเป็นเงื่อนไขของการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไพรมารี่โหวดในหลายขั้นตอน และยังมีทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่หลายพรรคที่ยังจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบไม่ได้

3.ความชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำได้เร็วหรือช้าแค่ไหนยังไง เพราะต้องรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเมืองที่ถูกห้ามไว้ด้วยคำสั่ง คสช. ด้วย

4. การบริหารจัดการกำหนดเวลาขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้ง จะกำหนดเวลาอย่างไร ซึ่งผูกกับหลายปัจจัย เช่นเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ การเลือกตั้งท้องถิ่น และการได้ กกต. ชุดใหม่ เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นเป็นปัญหาปลีกย่อยที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย เช่นคลายล็อคแล้วยังหาสมาชิกไม่ได้ หรือหาทุนประเดิมพรรคไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องของพรรคการเมืองเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากหารือแล้วยังมีอะไรที่รัฐบาลยังยืนยันได้ เช่นเลือกตั้งได้ภายใน ก.พ. 62 หรือยังมีการทำไพรมารีโหวตหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าก็ยังเป็นความคาดหมายว่าจะสามารถบริหารจัดการให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน ก.พ. 62 ขึ้นกับตัวแปรบางอย่าง ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องความวุ่นวาย หากสมเหตุผลจริงก็อาจจะขยับบวกลบได้ ส่วนเรื่องไพรมารีโหวตนั้น ยังต้องรายงานให้ คสช. ทราบว่าหากจะต้องให้มีการจัดไพรมารีโหวตมันมีปัญหาอะไร ต้องแก้ไขอะไร เพราะหากทุกอย่างยืนอยู่อย่างเดิมคงจัดไพรมารีโหวตไม่ได้ แต่หากไม่ให้มีจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งมีทั้งสองทางเลือก

"ส่วนใหญ่เสียงที่บอกว่าไม่อยากให้ทำไพรมารีโหวต ยืนบนพื้นฐานปัจจัย 3 ตัว คือ 1.การแบ่งเขต 2.การยอมให้มีการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง 3. การยอมให้พรรคการเมืองหาสมาชิกได้ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และหากเขายังไม่เห็นปัจจัยทั้ง 3 ตัวนี้ถูกแก้ไขก็คงอยากให้เลิก แต่หากคลี่คลายได้เขาก็อาจจะอยากให้มีก็ได้"รองนายกฯ กล่าว

นายวิษณุชี้แจงเพิ่มเติมว่า 3 ตัวแปรข้างต้นนั้น บางเรื่องเป็นเรื่องที่ คสช. จะต้องพิจารณาปลดเปลื้องให้ บางเรื่องเป็นเรื่องที่พรรคต้องไปทำเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต. สามารถจัดรับฟังความเห็นเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน พรป.การเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้คลี่คลายอย่างไรนั้น นายวิษณุกล่าวว่า สิ่งนี้คือ 1 ใน 4 ประเด็นข้างต้นที่ต้องหารือ ครม. และ คสช. ซึ่งอาจมีทางออกคือเรื่องไหนที่ กกต. ใช้อำนาจทำได้ก็ทำไป เรื่องใดที่ คสช. ช่วยได้โดยการให้อนุญาตไปไม่ต้องแก้กฎหมายอะไรก็ทำไม หรือเรื่องไหนที่ติดขัดข้อกฎหมาย ก็ต้องไปหารือว่าจะหาทางออกยังไง ระหว่างการออก พรบ. หรือ พรก. โดย ครม. หรือ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดย คสช. หรือไม่ ทั้งหมดอาจจะไม่ได้จบลงด้วยมาตรา 44 อย่างเดียวก็ได้

นายวิษณุกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ต้องหารือกฤษฎีกาด้วย เพราะอย่างการออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อทำให้ กกต. แบ่งเขตได้เร็วนั้นก็ยังต้องดูว่าจะเข้าเงื่อนไขของการออกพระราชกำหนด คือเป็นเรื่องจำเป็น ฉุกเฉิน เร่งด่วน กระทบต่อเศรษฐกิจหรือความมั่นคง ซึ่งขณะนี้ตนยังเห็นว่าลำพังการแบ่งเขตอาจจะไม่เข้า แต่อาจหาทางฝากไปในประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงก็อาจจะได้ หรือแม้แต่การใช้มาตรา 44 ก็ต้องไปดูอีกว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่จะใช้มาตรา 44 หรือไม่ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเกิดการฟ้องจนเป็นปัญหายาวออกไปอีก

นายวิษณุกล่าวอีกว่าหลังจากหารือครั้งนี้แล้ว เบื้องต้นคิดว่าไม่ต้องมีการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้องทางเทคนิคแบบนี้อีกแล้ว จากนี้จะเป็นการนัดหารือโดยเชิญพรรคการเมืองเข้ามาด้วย เพราะบางเรื่องเราคิดว่าเป็นปัญหา พรรคการเมืองอาจจะบอกว่าไม่เป็นปัญหา หรือในทางตรงกันข้ามเราคิดว่าไม่มีปัญหา แต่พรรคการเมืองยืนยันว่าเป็นปัญหา ก็ต้องไปรับฟังก่อน อย่างที่นายกฯ บอกว่าอย่างน้อยให้มีการประชุมกันรอบแรกก่อนในปลายเดือน มิ.ย. นี้แน่นอน