posttoday

นายกฯหว่งม็อบพระวิหาร7ส.ค.

05 สิงหาคม 2553

นายกฯหวั่นภาคประชาชนชุมนุม7ส.ค.ค้านพระวิหารทำรัฐบาลบริหารสถานการณ์ลำบาก ด้านโฆษกปชป.โต้เฉลิมปัดชวนลงนามเอ็มโอยูไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนโยนผิดทีโออาร์46สมัยทักษิณ

นายกฯหวั่นภาคประชาชนชุมนุม7ส.ค.ค้านพระวิหารทำรัฐบาลบริหารสถานการณ์ลำบาก ด้านโฆษกปชป.โต้เฉลิมปัดชวนลงนามเอ็มโอยูไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนโยนผิดทีโออาร์46สมัยทักษิณ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า กรณีภาคประชาชนเตรียมจัดการชุมนุมคัดค้านข้อพิพาทเข้าพระวิหาร ในวันที่ 7สิงหาคม อาจทำให้รัฐบาลบริหารสถานการณ์ลำบาก หากมีการชุมนุมขอให้อยู่ในกรอบของกฏหมาย แต่อยากให้มาร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีต่างๆที่รัฐบาลจะเปิดให้มากกว่า คิดว่าไม่ควรมีกลุ่มใดที่ผูกขาดว่าตัวเองต้องเป็นฝ่ายที่ถูกต้องหรือ ปกป้องผลประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว และสิ่งที่ดีที่สุด คือ อย่าไปทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการทะเลาะเบาะแว้งกันต้อมาช่วยกันทำงานในเรื่องนี้ 

นายกรัฐมนตรี กล่าววถึงกรณีสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรี​กัมพูชา แสดงท่าทีไม่มีการประนีประนอมในข้อพิพาทการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า เป็นเรื่องยาก เพราะความรู้สึกของประชาชนทั้งสองประเทศมีความกังวลเรื่องสิทธิของแต่ละฝ่าย และเป็นธรรมดาที่อยากจะปกป้องสิทธิของตัวเอง คงยังไม่ง่ายแต่สิ่งที่ได้พยายามทำให้กัมพูชามองเห็น บรรยากาศเป็นอย่างนี้เพราะปัญหาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จะเสนอให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาทำงานคู่ขนานกับคณะทำงานของรัฐบาลในเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เกรงว่าจะมีคล่องตัว แต่หากตั้งมาก็ยินดี และย้ำว่า เนื้อหาในเอกสารทั้ง4ข้อ ซึ่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไปลงนามเอาไว้ แม้ว่ายังไม่ได้เห็นตัวเอกสาร แต่ไม่มีผลผูกพันให้ต้องยอมรับคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาสถานที่ทางประวัติศาสตร์(ไอซีซี) ​
   
ด้านน.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ​กรณี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่า การลงนามใน MOU ปี 2543 ซึ่งเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลนาย ชวน หลีกภัย ทำให้ไทยต้องเสียดินแดน ยืนยันว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะMOU ดังกล่าวไม่มีผลผูกมัดใดๆ แต่ในทางกลับกัน ส่งผลให้กัมพูชาไม่สามารถเสนอแผนบริหารจัดการได้ ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปในปีหน้า

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ คือการทำทีโออาร์ 2546 หรือแผนการร่วมในสมัยรัฐบาลของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ส่วนหนังสือของที่ปรึกษากษัตริย์กัมพูชาที่ส่งมายังรัฐบาลไทย เสนอให้กรณี ปราสาทพระวิหารเป็นสัญญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ขณะนี้อยู่รัฐบาลไทยยังไม่มีหนังสือตอบกลับ ซึ่งคาดว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี