posttoday

สปท.เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ยันคปป.ไม่มีอำนาจเหนือรัฐบาล

16 กุมภาพันธ์ 2559

มติสปท. 164 ต่อ 6 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ยืนยันไม่ได้แฝงอำนาจของ คปป.

มติสปท. 164 ต่อ 6 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ยืนยันไม่ได้แฝงอำนาจของ คปป.

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยมีวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่อง การจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ....ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยพ.ต.ต. ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานกมธ.ฯ ชี้แจงว่า กฎหมายที่เสนอเข้าสภาฯวันนี้ เป็นเพียงกลไกไม่ใช่สารัตถะของยุทธศาสตร์ชาติ เพราะยังต้องการความเห็นของสมาชิกสปท.เพื่อนำไปปรับแก้ ซึ่งยุทศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางไว้สามารถแก้ได้ เพราะเป็นแผนการพัฒนาเพื่อให้รัฐบาลทุกสมัยรับช่วงต่อ

ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 25 คน ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สปท. และบุคคลที่สนช.สรรหาและคัดเลือกให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 22 คน เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรก เพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบและใช้บังคับ และกำหนดให้คณะรัฐมนตรี และมีคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 29 คน รวมทั้งดำเนินการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติภายใน 90 วันนับแต่ร่างพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี แต่ก็ไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดไป เพราะเมื่ออยู่ครบ 4 ปีต้องจับฉลากออกกึ่งหนึ่งเพื่อไปสรรหาใหม่จาก 7 กลุ่ม อาทิ หัวหน้าจากส่วนราชการ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ กลุ่มภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาชน ซึ่งไม่ใช่มีแต่เจ้าหน้าที่ทหารอย่างที่เข้าใจกัน

พ.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า การจัดทำยุทธศาสตร์กำหนดให้นำข้อมูลวาระปฏิรูปและวาระพัฒนาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และสปท.ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และข้อมูลอื่นๆอาจเป็นประโยชน์ต่อชาติใช้ประกอบการทำยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ต้องการให้ยุทศาสตร์ชาติบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เสนอให้กรธ.พิจารณาแล้ว และต้องการให้กฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้ปี 2559 หรือในรัฐบาลนี้ ทั้งนี้ เชื่อว่าผลที่ได้จากกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ระดับชาติที่เป็นแม่บทหลักในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทำให้การพัฒนาทุกด้านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แผนพัฒนามีการบูรณาการจัดลำดับให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ ฝ่ายการเมืองทำให้เสียหายร้ายแรงแต่ไม่ปรากฏว่าทุจริตให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ หากเป็นข้าราชการให้มีบทกำหนดโทษทางวินัย หากส่อว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบก็ส่งให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ

จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้สมาชิกสปท.อภิปรายแสดงความเห็น โดยนายคำนูญ สิทธิสมาน อภิปรายว่า ในฐานะที่เคยเป็นอดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยืนยันได้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่อำนาจอธิปไตย 4 หรือ 5 เป็นเพียงหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง เพราะไม่ได้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต้องผ่านสภาฯและยืนยันด้วยว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้แฝงอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง (คปป.) เพราะ 1.กรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอายุตลอดไปตราบเท่าที่พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติยังใช้บังคับอยู่ แต่คปป.กำหนดอายุอยู่ชั่วคราวเพียง 5 ปี แล้วสิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ อาจต่ออายุได้เพียงครั้งเดียวไม่เกิน 5 ปีโดยต้องมีมติรัฐสภาหรือผลการลงประชามติ 2.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่จัดทำและทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติที่ใช้บังคับระยะยาว แต่คปป.มีหน้าที่เฉพาะในการเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปและสร้างความปรองดองเฉพาะหน้าเท่านั้น

นายคำนูญ กล่าวอีกว่า 3.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพที่อยู่ในราชการมาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีเพียงเป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพียง 3 ใน 25 คน และมีเสนาธิการทหารเพียง 1 คนเป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง แต่คปป.มีผู้บัญชาการเหล่าทัพที่อยู่ในราชการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และ4. คปป.สามารถใช้อำนาจแทนครม.และรัฐสภาฯในยามวิกฤตร้ายแรงได้ ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอำนาจเช่นนั้น ทั้งนี้เห็นว่าอายุของคณะกรรมการยุทศาสตร์ชาติไม่ควรอยู่ครบ 4-8 ปี แต่ให้อยู่จนถึงมีรัฐบาลใหม่ หลังจากนั้นก็สรรหาใหม่

ขณะที่ นายนิกร จำนง สปท. อภิปรายว่า การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติโดยวางระยะเวลายาวนานจะทำให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากเราเป็นประเทศเล็กที่กำลังพัฒนา อาจจะโดนแรงกดดันจนทำให้เปลี่ยนแผนพัฒนา อีกทั้งขาดการมีส่วนร่วมชองประชาชน อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยที่จะต้องมียุทธศาสตร์ชาติ แต่กรอบการทำงานต้องไม่กดดันการทำงานของรัฐบาลมาก และเห็นว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีอำนาจมากเกินไป อาทิ การเสนอให้วุฒิสภาลงโทษคณะรัฐมนตรีหรือบุคคลหากไม่ปฏิบัติตาม

ด้่าน นายกษิต ภิรมย์ สปท. อภิปรายว่า อำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหาร ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการบอกว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ คปป. ซ่อนรูปถือเป็นการหลอกตัวเอง อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอะไรที่เป็นส่วนร่วมของประชาชนเลย หากแต่เป็นการเสริมอาณาจักรของข้าราชการ และหากบอกว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงกรอบการทำงาน สรุปเป็นแผนหรือกรอบกันแน่ เพราะถ้าเป็นเพียงกรอบ ส่วนตัวคิดว่าไม่ต้องมีก็ได้เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน เพราะในเมื่อครม.จะทำแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้วจึงไม่เห็นว่าการออก พ.ร.บ.นี้จะเป็นหน้าที่ใดๆ ของ สปท. หรือของ กมธ. และเห็นว่าควรเอาเรื่องนี้ออกไปจากสภาฯ

ทั้งนี้ ภายหลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างของ พ.ต.ต.ยงยุทธ ชี้แจงว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.ไม่ได้ระบุว่า กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เวลาเราร่าง พ.ร.บ. นี้ ก็จะอิงกับร่างรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ ทั้งนี้ยืนยันว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ​ไม่มีอำนาจลงโทษโดยตรง เป็นเพียงเครื่องเอ็กซเรย์เท่านั้น เราไม่ใช่ผู้ผ่าตัด แต่ถ้าพบว่ามีการกระทำการที่ไม่ถูกต้องก็จะส่งเรื่องไปยังช่องที่กำหนด ทั้งนี้มีคนพูดว่า ถ้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเกิดในยุคที่มีโครงการจำนำข้าว ก็อาจจะไม่เกิดความเสียหายมากขนาดนี้

จากนั้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อรายงานและร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยคะแนน 164 ต่อ 6 งดออกเสียง 4 โดยกมธ. จะนำข้อคิดเห็นของสมาชิกไปปรับปรุงก่อนส่งให้ประธานสปท. และครม. เพื่อดำเนินการต่อไป จากนั้นนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. คนที่ 1 สั่งปิดการประชุมในเวลา 14.55 น.