posttoday

กมธ.ยกร่างฯชะลอเพิ่มอำนาจปปช.-ปรับแก้ Hate Speech

22 มกราคม 2558

กมธ.ยกร่างรธน.ชะลอเพิ่มอำนาจปปช.เหตุกระทบบางมาตรา พร้อมปรับแก้ Hate Speech ใหม่

กมธ.ยกร่างรธน.ชะลอเพิ่มอำนาจปปช.เหตุกระทบบางมาตรา พร้อมปรับแก้ Hate Speech ใหม่

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การประชุมวันนี้ (22ม.ค.) มีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ..... ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้สอบถามมายังนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ

โดยนายบวรศักดิ์ ได้มอบหมายให้อนุกมธ.พิจารณาการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะ 8 ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานอนุกมธ.ฯ เพื่อพิจารณาในเบื้องต้น โดยกมธ.ยกร่างฯ มีมติ 1.เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนุวัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 โดยเพิ่มความให้สอดคล้องจำนวน 10 มาตรา

2.เห็นด้วยกับการเพิ่มความให้ชัดเจน ครอบคลุม หรือปรับตามแนวทางที่ปฏิบัติอยู่แล้ว รวมทั้งแก้ไขเนื้อหาที่ผิด จำนวน 7 มาตรา และ 3.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 7 มาตรา ซึ่งยังมีปัญหาบางประการที่ขัดแย้งกับแนวทางหลักของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อย่างไรก็ตาม ทางกมธ.ยกร่างฯ จึงขอให้สนช.ชะลอการพิจารณาในส่วนดังกล่าวไว้ก่อน โดยจะทำหนังสือแจ้งไปยังประธานคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สนช. ต่อไป และในวันที่ 23 ม.ค. กมธ.ยกร่างฯ จะเพิจารณาหมวด 2 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในส่วนของภาค3 นิติธรรม ศาลและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในเวลา 09.00 น. – 16.00 น.

นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังได้พิจารณา การเขียนถ้อยคำที่ว่า “หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน” หรือ Hate Speech เมื่อได้สำรวจดูร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้แล้ว ปรากฎว่ามี Hate Speech อยู่ไม่น้อยกว่า 3 มาตรา คือ มาตรา (1/2/1) 1 มาตรา (1/2/2) 14  ซึ่งอยู่ในบททั่วไป และมาตรา (1/2/2) 20 ซึ่งอยู่ในส่วนของสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน

ทั้งนี้ เมื่อมีบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในบททั่วไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในส่วนของสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนอีก ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ จึงแก้ไขในมาตรา (1/2/2) 20 โดยตัด “หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน” ออก เพื่อป้องกันการนำบทบัญญัติดังกล่าวไปอ้างเพื่อจำกัดสิทธิสื่อมวลชน หรือริดรอนสิทธิสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร

ส่วนบทบัญญัติที่เข้าข่ายจะครอบคลุมถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนต่างประเทศได้ใช้สิทธินำเสนอข้อมูลข่าวสารซึ่งเข้าข่าย Hate Speech หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ในส่วนนี้จะอยู่ในส่วนของบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา ( 1/2/2) 14 วรรคสอง ซึ่งกล่าวถึงหลักเกณฑ์ของการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยบทบัญญัตินี้จะครอบคลุมถึงการใช้สิทธิบุคคลทุกคนที่อาศัยในแผ่นดินไทย คือ คนไทยและคนต่างชาติ

เมื่อถามต่อว่า ประเด็นที่สื่อมวลชนไทยนำข้อมูลของต่างชาติที่เข้าข่าย Hate Speech มาเผยแพร่ต่อจะครอบคลุมในบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณารายละเอียดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป