posttoday

ตั้งอนุกมธ.10คณะลุยยกร่างรัฐธรรมนูญ

13 พฤศจิกายน 2557

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตั้ง อนุกมธ. 10 คณะ ดำเนินการยกร่างฯ มั่นใจได้ร่างรัฐธรรมนูญภายใน 17 เม.ย.58

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตั้ง อนุกมธ. 10 คณะ ดำเนินการยกร่างฯ มั่นใจได้ร่างรัฐธรรมนูญภายใน 17 เม.ย.58

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.) ขึ้นมาอีก 11 คณะ แบ่งเป็น อนุกมธ. เพื่อดำเนินการยกร่างฯ 10 คณะ และอนุกมธ. ด้านกระบวนการ 1 คณะ มีดังนี้

คณะที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมือง และส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คณะที่ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยมีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คณะที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา และหมวด 4 คณะรัฐมนตรี โดยมีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน

คณะที่ 4 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 5 การคลังและการงบประมาณของรัฐ โดยมี นายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คณะที่ 5 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน โดยมีนายปรีชา วัชราภัย คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คณะที่ 6 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอาจ และการปกครองท้องถิ่น โดยมี นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธาน

คณะที่ 7 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยมี นายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คณะที่ 8 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน

คณะที่ 9 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรอดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยมีนายชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คณะที่ 10 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ส่วนคณะอนุกรรมาธิการด้านกระบวนการ 1 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะ ในการตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยมี นายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นประธาน

ทั้งนี้อนุกมธ. แต่ละคณะจะมีสมาชิกสปช. ไม่เกิน 5 คน และสมาชิกสนช. 1คน ยกเว้นคณะที่มีสมาชิกสนช. เป็นกมธ.ยกร่างอยู่แล้ว ดังนั้นจะมีสมาชิกอนุกมธ. คณะละไม่เกิน 15 คน เว้นคณะพิเศษที่จะต้องมีสมาชิกไม่เกิน 21คน ซึ่งจะสามารถประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการภายในวันที่ 14 พ.ย. หรือช้าที่สุดคือช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.  เนื่องจากกำหนดการดำเนินงานของกมธ.ยกร่างฯ ในสัปดาห์หน้า ช่วงเช้าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ส่วนช่วงบ่ายอนุกมธ.  10 คณะจะประชุมพิจารณาเนื้อหา

เมื่อการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเสร็จสิ้น หากอนุกมธ. คณะใดพิจารณาแล้วเสร็จ จะนำร่างหลักการนั้นเข้ามาพิจารณาในกมธ. ยกร่างฯ ภายในต้นเดือนธ.ค. พร้อมกับรับฟังข้อเสนอจากสปช. ที่สรุปจากกมธ.วิสามัญ 18 คณะ ซึ่งจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 ธ.ค. โดยหลังกระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จกมธ.ยกร่างฯ และอนุกมธ. จึงจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดในรายมาตรา

นอกจากนี้กมธ.ยกร่างฯ มีการอภิปรายทั่วไปในภาพรวมเนื้อหารัฐธรรมนูญ ภาคที่ 2 หมวดที่ 1ผู้แทนราษฎรที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี หมวดที่ 2 แนวนโยบายบริหารแห่งรัฐ หมวดที่ 3 รัฐสภา และหมวดที่ 4 นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางในการร่างหลักการโดยสังเขป

เมื่อถามว่าอนุกมธ. จะต้องส่งร่างหลักการกลับมายังที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ อีกครั้งหรือไม่ นายคำนูญ กล่าวว่า หลังจากวันที่27 พ.ย. อนุกมธ. คณะใดร่างหลักการแล้วเสร็จ ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาจนถึงเดือนธ.ค. ขณะเดียวกันในช่วงวันที่ 15-16 ธ.ค. จะเป็นการอภิปรายทั่วไปของสปช.  ส่งผลให้อนุกมธ. จะสามารถร่างรัฐธรรมนูญในรายละเอียดที่เป็นบัญญัติกฎหมายรายมาตราได้ หลังจากวันที่ 20 ธ.ค. กล่าวโดยสรุปจะเป็นการทำงานคู่ขนาย 2 ด้าน 1.) การเตรียมเนื้อหา2.) การรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง กมธ. ด้านรับฟังความคิดเห็นของกมธ.ยกร่างฯ พร้อมกับข้อข้อเสนอของสปช.

"มีการรับฟังความคิดเห็นตลอดกระบวนการ ทั้งความเห็นจากประชาชนและองค์กรต่างๆ ด้านสปช. และสนช. ก็มีคณะกรรมการติดตามการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ เฉพาะช่วงต้นในการร่างหลักการเท่านั้น ที่กมธ.ยกร่างฯ จะต้องทำให้จบในระดับหนึ่ง เพราะตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา .34 สปช. จะต้องส่งข้อเสนอภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ 21 ต.ค. หรือจบให้ได้ภายในวันที่ 19 ธ.ค. การฟังความเห็น ถ้าไม่ทำควบคู่กันไป จะไม่ทัน เพราะเท่ากับรัฐธรรมนูญบังคับ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญต่อสปช. วันสุดท้าย ภายในวันที่ 17 เม.ย. เป็นวันสุดท้าย เราอยากทำให้เสร็จก่อนส่งกรานต์" นายคำนูญระบุ

มั่นใจได้อย่างไรว่ากระบวนการดังกล่าวจะสำเร็จ ? นายคำนูญ กล่าวว่า เพราะกระบวนการจะต้องเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ 36 คน ส่วนใหญ่สูงวัย ไม่ควรเอาชื่อเสียงมาทิ้งไว้ในชั้นนี้ จะผ่านไม่ผ่าน ดีไม่ดี เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าทำไม่ทันนี่จบเห่ตั้งแต่เริ่มต้น ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ดินไม่ถล่มฟ้าไม่ทลาย ต้องทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในร่างแรกส่งประธานสปช. ทันภายในวันที่ 17 เม.ย. แล้วจากนั้นกระบวนการอื่นๆ จะเดินหน้าต่อไป