posttoday

วิษณุแจงกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนครม.เป็นคนนอก

14 ตุลาคม 2557

"วิษณุ"แจงโควตา กมธ.ยกร่าง รธน.สัดส่วน ครม. - คสช. เป็นคนนอก อาจอยู่ในโผ สปช. - สนช. แย้มอาจจัดเลือกตั้งได้ต้นปี 59

"วิษณุ"แจงโควตา กมธ.ยกร่าง รธน.สัดส่วน ครม. - คสช. เป็นคนนอก อาจอยู่ในโผ สปช. - สนช. แย้มอาจจัดเลือกตั้งได้ต้นปี  59

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่าการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน จะเป็นคนนอกอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีไปเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ โดยรายชื่อผู้ที่จะไปเป็นกมธ.ดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ก่อน

ทั้งนี้ในสัดส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และ ครม.  จะเป็นบุคคลภายในหรือภายนอก หรือบุคคลในสภาปฏิรูปแห่งชาติ( สปช.)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ย่อมได้ โดยทาง คสช.จะเสนอรายชื่อจำนวน 6 คน แบ่งเป็นประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน และเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอีก 5 คน โดยขณะนี้ทั้ง ครม.และ คสช.ยังไม่ได้เสนอรายชื่อแต่อย่างใดเพราะโดยหลักต้องรอรายชื่อจาก สนช.และ สปช.ให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน อีกหตุผลที่ทาง ครม. และ คสช. ไม่รีบเสนอรายชื่อในขณะนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีรายชื่อบุคคลไปซ้ำซ้อนกับ สปช. และ สนช.

"ผมมีรายชื่อ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเสนอในใจแล้ว สำหรับตัวประธาน กมธ.ที่ คสช.เสนอ เลือกจากคนนอก หรือคนในสนช.หรือสปช.มาเป็นประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ทาง ครม.และ คสช.ยังมีเวลาบวกไปจากวันที่ 21 ต.ค.ไปอีก 15 วัน จึงยังมีเวลาที่จะตกลงกันว่าจะเลือกใคร" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวยืนยันว่ากรอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน โดยกรอบการหารือไม่ได้ลงรายละเอียด ว่านายกรัฐมนตรี จะมาจากคนในหรือคนนอกสภา เป็นเพียงการพูดกันกว้างๆ เช่น มีสภาเดียวหรือสองสภา ส.ว.จะมาจากเลือกตั้งหรือไม่ โดยเป็นหน้าที่ กมธ.จะยกร่าง เพื่อไปนำเสนอสมาชิก 250 คน โหวตกันในสภาโดยใช้เสียงข้างมาก 

ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย. 2558  โดยไม่ได้หมายความว่าจะเลือกตั้งได้ทันที เพราะต้องมีการออกกฎหมายลูก อีก 3 ฉบับ คือพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง , พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งในตอนนั้นจะมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะมีอยู่อีกหรือไม่ รวมถึงต้องให้เวลาสำหรับการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง การหาเสียง กับการกำหนดวันเลือกตั้ง ดังนั้นช่วงเวลาอาจจะล้ำไปถึงต้นเดือน ม.ค.59