posttoday

นักวิชาการจี้เปิดช่องสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศ

15 พฤศจิกายน 2556

นักวิชาการรวมกลุ่ม จี้ เปิดช่องสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาสถานการณ์การเมือง

นักวิชาการรวมกลุ่ม จี้ เปิดช่องสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาสถานการณ์การเมือง

คณาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา นำโดย ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ทวงถามความรับผิดชอบทางการเมืองจากรัฐบาล กรณีที่มีประชาชนจำนวนมาออกมา ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และออกแถลงการณ์ เสนอให้ร่วมกันหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทยโดยสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์การเมืองซึ่งกำลังตึงเครียดอยู่ในขณะนี้

นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อ่านแถลงการณ์ว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทยต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงแม้วุฒิสภาจะมีมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปแล้ว แต่ประชาชนยังเห็นว่าการกระทำการดังกล่าวยังมิได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันประเทศไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งมีระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ซึ่งหากยังเป็นสภาพอย่างนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมจะทวีความรุนแรงขึ้น ประชาชนจะต้องทุกข์ทน ประเทศก็อ่อนแอล้าหลังพัฒนาไม่ทนันประเทศเพื่อนบ้าน และต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นกลับ ฉะนั้นจะต้องมีการปฏิรูปประเทศไทย  

สำหรับการปฏิรูปประเทศไทยมีเรื่องเร่งด่วนสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ปฏิรูปการเมือง โดยเปลี่ยนแปลงระบบรัฐสภาให้เป็นองค์กรตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน สนองเจตนารมณ์ของประชาชน และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภาแทนทุนสามานย์ที่มุ่งการถอนทุนคืนให้หวนกลับมาอีก 2.ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมกลไกตลาดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ปราศจากอิทธิพลแทรกแซงจากภาครัฐ เศรษฐกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและรัฐวิสาหกิจชุมชนได้รับการสนับสนุน ปฏิรูประบบพลังงาน แรงงาน เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

3.ปฏิรูปสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และระบบสวัสดิการ 4.ปฏิรูประบบราชการและความยุติธรรม โดยเน้นความเป็นนิติรัฐ ส่งเสริมระบบราชการโดยระบบคุณธรรม ทำลายการทุจริตคอรัปชั่นให้หมดไป ส่งเสริมข้าราชการทำงานเพื่อแผ่นดินโดยปราศจากการครอบงำจากฝ่ายการเมือง ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ

นายยศศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการปฏิรูป จะให้มีองค์กรทำหน้าที่ประสานกระบวนการ ได้แก่ สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการกำกับปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการปฏิรูปเฉพาะเรื่อง โดยกำหนดให้มีระยะเวลาในการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นหลักประกันต่อประชาชน

ศ.บรรเจิด กล่าวว่า เราจะใช้โอกาสที่ภาคประชาชนกำลังเข้มแข็งมาปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่เหมือนการปฏิรูปที่ผ่านมาของรัฐบาลที่มีแต่คนชนชั้นนำ ทำให้ไม่อาจนำไปสู่เนื้อหาของการปฏิรูปได้ ส่วนปฏิรูปรอบใหม่จะเป็นอย่างไรคงต้องมาร่วมขบคิดกัน  
 

นายโกวิทย์ พวงงาม อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การปฏิรูปของรัฐบาลที่ผ่านมาล้มเหลวไม่เป็นประโยชน์ เพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนของรัฐบาล มีผลประโยชน์ทางการเมือง ฉะนั้นต้องตั้งคณะกรรมการปฏิรูปใหม่ ที่ดึงทุกภาคส่วนมาเกี่ยวข้อง ซึ่งภาควิชาการยินดีที่จะประสานทุกฝ่ายมาร่วมปฏิรูป ส่วนจะเริ่มปฏิรูปรอบใหม่กันอย่างไร คิดว่าจากนี้ทางคณาจารย์ฯจะหารือความเป็นไปได้ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอให้ทุกฝ่ายมาร่วมพิจารณา อย่างไรก็ดี ที่คณาจารย์ฯไม่เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศต่อรัฐบาลไปก่อนหน้านี้นั้น เพราะเห็นว่าการปฏิรูปยังมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านอยู่ อาจไม่นำไปสู่ความสำเร็จ

“ไม่อยากให้รัฐบาลมองว่าคณาจารย์เป็นฝ่ายตรงข้าม จนมองข้ามข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ เรายืนยันว่าไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ที่เราแสดงออกเพราะเป็นผู้ห่วงประเทศ อยากให้ประเทศเดินหน้า ฉะนั้นอยากให้รัฐบาลจริงใจในการปฏิรูปประเทศด้วยการรับฟังข้อเสนอการปฏิรูป ดึงทุกภาคส่วนมาร่วมเพื่อให้คณะกรรมการปฏิรูปมีความเป็นกลางที่สุด”นายโกวิทย์ กล่าว

ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อาจารย์จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในขณะนี้กำลังบีบให้ทุกฝ่าย ต้องเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปประเทศ อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้หากคาดการณ์การเมืองในอนาคต ย่อมเห็นภาพชัดเจนว่า พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค กำลังเดินมาถึงทางตัน โดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ต้องยอมรับแล้วว่ากำลังตกอยู่ในฐานะที่บริหารประเทศต่อไปได้อย่างยากลำบากเพราะขาดความน่าเชื่อถือ และอาจต้องยุบสภาไปในที่สุด แม้จะเลือกตั้งใหม่แล้วกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกปัญหาที่เผชิญอยู่ก็จะกลับมาอีก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์หากเลือกตั้งใหม่และจัดตั้งรัฐบาลได้ เชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจากฝ่ายต่อต้านก็ยังไม่หมด ไปเช่นกัน